The CapsLock Key
ผมชอบตั้งผังแป้นพิมพ์บนลินุกซ์ให้ปุ่ม CapsLock เป็นปุ่ม Ctrl ด้วยเหตุผลว่ามันกดง่ายกว่าใช้ Ctrl ตามปกติ แล้วเท่าที่จำได้ ตอนหัดคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ ก็หัดกด Ctrl ตรงตำแหน่งนั้น จนกระทั่งมันเลื่อนลงไปอยู่ข้างล่างตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ แล้วก็ติดอย่างนั้นมานานพอดู พอได้รู้วิธีตั้งให้อยู่ที่ปุ่ม CapsLock แล้ว ก็กลับมาสู่ความรู้สึกเดิมที่สะดวกกว่า แล้วก้ใช้อย่างนี้มาตลอด
เพื่อเป็นการยืนยัน เลยไปรื้อแป้นพิมพ์เก่าของคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในชีวิต เป็น 8086 IBM PC compatible ยี่ห้อ Acer พร้อมระบบภาษาไทยของสหวิริยา สภาพเก่าหน่อยนะครับ เพราะอายุมันก็มากแล้ว
ซูมมาที่ตำแหน่งปุ่ม Ctrl และ Alt เขาวางปุ่มง่าย ๆ อย่างนี้เลย ก่อนที่ต่อมาเขาจะย้าย Ctrl ลงมาเบียด Alt เข้าไป แล้วยังมีปุ่ม Windows แทรกเข้ามาอีกทีหลังด้วย
สมัยที่ใช้ DOS นั้น ปุ่ม Alt ยังไม่ได้ใช้งานมากเหมือนตอนที่เป็น Windows แล้ว เวลาเรียกเมนูก็มักจะใช้ปุ่ม F10 หรือ Esc แล้วแต่โปรแกรม ดังนั้น การวางปุ่ม Alt ไว้ตรงนี้ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากนัก แต่ถ้าเป็นสมัย GUI อย่างตอนนี้ ปุ่ม Alt อยู่ตำแหน่งนี้จะกดยากเหมือนกับที่กด Ctrl ในสมัยนี้ กดเยอะ ๆ นิ้วก้อยจะหงิกเอา
ส่วนปุ่ม CapsLock นั้น เขาเอาไปวางไว้มุมล่างขวาครับ
ปุ่ม Esc จะวางไว้ที่แป้นตัวเลข สมัยนั้นปุ่ม Esc ก็ไม่ได้สำคัญอะไรนักเหมือนกัน ไปใช้เทอร์มินัลต่าง ๆ ก็ต้องควานหากันให้ควั่ก จนบางคนตัดรำคาญด้วยกการกด Ctrl-[ แทนซะเลย และในแป้นพิมพ์นี้จะไม่มี Enter ที่แป้นตัวเลข ทั้งคีย์บอร์ดจึงมี Enter แค่ปุ่มเดียวเท่านั้น
ส่วนปุ่มสลับภาษาก่อนยุค Windows จะค่อนข้างหลากหลาย สำหรับสหวิริยา เขากำหนดให้ใช้ปุ่ม Alt สลับภาษา โปรแกรม CU Writer ดูจะใช้ปุ่มอื่น เป็นปุ่ม Esc หรือ F10 ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว (คุ้น ๆ ว่า F10 ใช้เปิดเมนู) ใครจำได้ช่วยเตือนความจำผมที
พอมาสมัย Windows Thai Edition ที่บริษัทคนไทย localize กันเอง ปุ่มสลับภาษาแรก ๆ ก็ดูจะหลากหลายเหมือนกัน แต่ปุ่ม grave (`) ของไมโครวิซอยู่ในตลาดได้นานกว่า เพราะเป็น authorized distributor ของไมโครซอฟท์เอง จนกระทั่งกลายเป็น de facto ในเมืองไทยมาจนทุกวันนี้ แม้ว่า Windows มาตรฐานจะใช้ Alt-Shift เป็นค่าปริยายก็ตาม
กลับมาที่ปุ่ม CapsLock รู้สึกเสียดายตำแหน่งการวางปุ่มจริง ๆ เพราะ CapsLock นั้น ความถี่ในการใช้ต่ำมาก ๆ แต่กลับไปวางไว้ในตำแหน่งที่กดได้สะดวก แทนที่จะให้ตำแหน่งนั้นกับปุ่ม Ctrl ที่ใช้บ่อยกว่า
การที่ให้ CapsLock อยู่ตำแหน่งเหนือปุ่ม Shift ก็คงมาจากพิมพ์ดีด โดยพิมพ์ดีดจะมีปุ่มยกแคร่ แล้วจะมีอีกปุ่มติ่งออกมาเหนือปุ่มยกแคร่ด้านซ้ายในก้านปุ่มเดียวกัน เอาไว้ล็อคแคร่ที่ยกไว้ไม่ให้ตก พอกดซ้ำอีกทีถึงจะปล่อยแคร่ตกลงมา แต่พอเอามาใช้ในคอมพิวเตอร์แล้ว CapsLock มันไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับ Shift ถ้าต้องเลือกตำแหน่งนั้นระหว่าง CapsLock กับ Ctrl ผมว่า Ctrl เหมาะกว่า สำหรับ CapsLock นั้น เท่าที่จำได้ สมัยใช้พิมพ์ดีด ผมใช้แค่ตอนพิมพ์เลขไทย ส่วนเมื่อมาใช้คอมพิวเตอร์แล้ว แทบจะไม่เคยใช้ปุ่มนี้เลย
พอปุ่ม CapsLock แทบไม่มีที่ใช้อย่างนี้ บางคนจึงชอบตั้ง CapsLock ให้ใช้สลับภาษาแทน ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลเหมือนกัน แถมใกล้มือดีด้วย แต่สำหรับผม หลังจากชินกับ Alt-Shift ไปแล้ว ก็คิดว่าความสะดวกของการกด Ctrl ในแบบเดิมมีน้ำหนักมากกว่า
ป้ายกำกับ: computer, ergonomics
12 ความเห็น:
ณ 28 ธันวาคม 2552 เวลา 22:57 , Somewhere Out There แถลง…
พึ่งสังเกตเหมือนกันครับว่าปุ่ม caps lockเปลี่ยนตำแหน่งไป (ปรับตัวตาม keyboard ที่เค้าเปลี่ยนมาให้ตามยุค จนลืมไปเลย)
แต่ปุ่มเปลี่ยนภาษาตอนนี้ผมก็มาใช้ ctrl+shift กับ alt+shift เพราะไว้สลับ 3 ภาษา (--')
ใช้ปุ่มชุดเดียวสลับไม่ทัน เดี๋ยวเปลี่ยนมั่วอีกต่างหาก
Pop
ณ 28 ธันวาคม 2552 เวลา 23:28 , ไม่ระบุชื่อ แถลง…
เพิ่งรู้ว่าแต่ก่อนคีย์บอร์ดวางปุ่มแบบนี้ ผมก็เคยใช้ caplocks เป็นปุ่มเปลี่ยนภาษาครับ รู้สึกว่าไวกว่า alt+shift มากๆ
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 07:49 , Wiennat แถลง…
ไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่ใช้ Capslock กันมากน้อยแค่ไหนเพราะเท่าที่ผมเห็นก็ไม่เห็นจะมีใครใช้เลย ผมเองนับตั้งแต่พิมพ์เป็นก็ยังใช้ไม่เกิน 10 ครั้ง
ส่วนเรื่องเปลี่ยนภาษา แรกๆผมก็ใช้ Alt+Shift แต่ว่าในลินุกซ์กด Alt+Shift+Tab เพื่อเลื่อนไปมาระหว่างวินโดวไม่ได้เลยยอมใช้เป็นปุ่ม LShift + RShift แทน
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 07:52 , Nat Pavasant แถลง…
CUWrite ใช้ F10 ครับ ผมยังใช้ (เล่นๆ) อย่เลย
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 08:52 , wd แถลง…
ผมใช้ CapsLock เวลาพิมพ์ตัวแปรค่าคงที่ หรือคอมเมนต์ที่สำคัญ ๆ ครับ ใช้ค่อนข้างบ่อย
ใช้วิธีปรับตัวเข้ากับคีย์บอร์ดที่ใช้อยู่น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ เพราะโน๊ตบุ๊กกับเครื่องตั้งโต๊ะก็วางเลย์เอาต์ไม่เหมือนกัน เวลาใช้ต่างเครื่องก็ต้องปรับความเคยชินอยู่ดี
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 11:06 , Thep แถลง…
Pop, อ๊ะ วิธีสลับ 3 ภาษา น่าสนใจดีครับ เดี๋ยวยืมไปใช้มั่ง
Wiennat, จริงด้วยครับ ไม่เคยสังเกตเรื่อง Alt-Shift-Tab นี่เหมือนกัน ส่วนมากใช้แต่ Alt-Tab เลื่อนไปเรื่อย ๆ ทางเดียว
Nat, หมายถึงใช้ F10 เปลี่ยนภาษาใช่ไหมครับ? แล้วเปิดเมนูด้วยปุ่มไหนครับ?
wd, ตัวแปรค่าคงที่มักจะไม่ยาวครับ ผมสามารถกด Shift แช่ระหว่างพิมพ์ได้ ส่วนคอมเมนต์ จะใช้ all-capital ก็เฉพาะ keyword ประเภท FIXME, TODO อะไรพวกนี้เท่านั้นครับ ก็กด Shift ค้างไว้ได้
ถึงจะในกรณีที่ใช้ CapsLock จริง ๆ ผมว่าให้นับยังไง การใช้งานก็ยังน้อยกว่าปุ่ม Ctrl อยู่ดีน่ะครับ
และอีกอย่าง เวลากด Ctrl เราต้องกดคู่กับปุ่มอื่นเสมอ จึงเกิดการฉีกนิ้วได้บ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ปวดนิ้วได้ถ้าปุ่มอยู่ไกล ในขณะที่ปุ่ม CapsLock นั้น มีแต่กดอิสระอย่างเดียว ถึงอยู่ไกลก็ไม่ทำให้ต้องฉีกนิ้ว
เวลาไปใช้เครื่องชาวบ้าน ผมก็ปรับตัวเหมือนกันครับ แต่ประเด็นคือ สำหรับเครื่องที่ต้องใช้ทุกวี่วัน ผมเลือกที่จะปรับแต่งเพื่อสุขภาพนิ้วมากกว่า และอีกอย่างคือ ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ เผื่อจะมีคนเห็นด้วยมาก ๆ เข้า จนผู้ผลิตเปลี่ยนให้ก็ได้ ตอนนี้เท่าที่เห็นก็มีคีย์บอร์ด Happy Hacking ที่วาง Ctrl ตรงตำแหน่งเหนือ Shift ซ้ายแล้ว หลังจากที่ชาว GNU/Linux นิยมเซ็ตแบบนี้กันมาก
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 11:57 , wd แถลง…
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนพิมพ์ดีดสัมผัสมาหน่อยนึง เวลาใช้งานปุ่ม Ctrl จึงใช้สองมือ เหมือนปุ่ม Shift เลยรู้สึกว่าตำแหน่งปัจจุบันใช้งานสะดวกอยู่แล้ว
ปล.เพิ่งสังเกตุตัวเองว่า ปัจจุบันผมมีนิสัยเสียเพิ่มมาอย่างนึง คือชอบคงมือซ้ายไว้ที่แป้นเหย้า (เพื่อเป็นจุดอ้างอิงให้มือขวาซึ่งต้องเคลื่อนไปมากับแป้นตัวเลข คือให้มือขวาเคลื่อนกลับมาแป้นเหย้าได้โดยไม่ต้องดูแป้นพิมพ์) ดังนั้นเวลากดปุ่ม Ctrl ทางซ้ายจึงใช้ฝ่ามือตรงโคนนิ้วก้อยกดแทน ส่วนมือขวาใช้นิ้วก้อยกด Ctrl ตามปกติครับ
เล่าสู่กันฟังเป็นข้อมูลครับ
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 12:18 , Thep แถลง…
ผมก็พิมพ์สัมผัสนะครับ และเพราะพิมพ์สัมผัสนี่แหละ จึงคุ้นกับการกดปุ่มอักษรแบบแยกมือซ้ายขวาชัดเจน แต่ปุ่มที่ใช้ประกอบกับ Ctrl มักจะเป็นตัวอักษร จึงหนักมาทางมือซ้ายมากกว่ามือขวา การใช้งานส่วนใหญ่ก็เลยมักจะใช้มือเดียวครับ ยกเว้นพวก Ctrl-P, Ctrl-O ที่ตัวอักษรอยู่มือขวา พวกนี้ยังไงก็สองมือครับ
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 12:32 , Thep แถลง…
เพิ่มเติม: เวลาพิมพ์ มือทั้งสองของผมมักจะวางที่แป้นเหย้าตลอดครับ ไม่ได้ขยับไปไหน แป้นตัวเลขก็แทบไม่ได้ใช้ ยกเว้นตอนที่จะคีย์ข้อมูลตัวเลขล้วน ๆ เยอะ ๆ ปุ่มลูกศรก็ใช้น้อย เพราะเวลาป้อนข้อความมักเปิด vi
เพราะฉะนั้น คำว่า "ไกล" สำหรับปุ่ม Ctrl การออกห่างแป้นเหย้าลงไปอยู่ในระดับเดียวกับ space bar จึงถือว่าไกล และต้องงอนิ้วก้อยลงไปกดทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือขวาครับ ส่วนท่าใช้ฝ่ามือกดนี่ ยังไม่เคยลองครับ โดยเฉพาะเมื่อชินกับปุ่ม Ctrl ในตำแหน่ง CapsLock แล้ว ซึ่งกดสะดวกกว่ากันเยอะ
ณ 29 ธันวาคม 2552 เวลา 14:36 , Beamer User แถลง…
จริงด้วยแฮะ
เผลอทีไรเปลี่ยนภาษาด้วยนิ้วก้อยตลอด ปกติผมเปลี่ยนภาษากับกด ctrl ด้วยนิ้วนางเสมอ ติดนิสัยตั้งแต่เรียนพิมพ์ดีด เพราะแคร่มันแข็งกดด้วยนิ้วก้อยมักจะได้ตัวจาง ๆ เลยเลี่ยงด้วยการใช้นิ้วนาง แต่เวลาพิมพ์เร็ว ๆ ก็ต้องใช้นิ้วก้อย มิน่าวันก่อนนิ้วก้อยปวด เพราะว่าเปลี่ยนภาษาบ่อยนี่เอง
ว่าแต่เดี๋ยวนี้ยังมีใครพิมพ์ดีดแล้วยกข้อมือให้สูง ไม่วางบนโต๊ะบ้าง แบบถูกต้องบ้าง น่าจะเป็นวิธีแก้ไขที่ถูกนะ
ณ 30 ธันวาคม 2552 เวลา 09:52 , Unknown แถลง…
MicroWiz ใช้ CapLock เป็นตัวเปลี่ยนภาษาครับ
ส่วนเจ้าที่ใช้ grave คือ iRC
ณ 30 ธันวาคม 2552 เวลา 11:43 , Thep แถลง…
too, อ้าว ผมเข้าใจผิดหรือนี่ ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก