Theppitak's blog

My personal blog.

24 ตุลาคม 2552

Romance of the Three (Software) Kingdoms

ตามที่มีประกาศโครงการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ปีที่ 2 ที่ stop.in.th พร้อม จดหมายแจ้ง ถึงหน่วยงานต่าง ๆ ก็คิดว่าใกล้เวลาที่จะได้เห็นการ debate เรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตามที่ต่าง ๆ อีกครั้ง ทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต แล้วก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพาดพิงถึง ซอฟต์แวร์เสรี และ โอเพนซอร์ส ด้วย

หลายคนคิดว่านี่เป็นหนึ่งในกลวิธีโปรโมทโอเพนซอร์สทางอ้อม ในขณะที่อีกหลายคนยังคงคิดว่าการพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องของคนมีกะตังค์ทั้งหมด แต่ถ้าพิจารณาหลักการเสียหน่อย ก็จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะของสามก๊กเสียมากกว่า

ผู้ใช้ซอฟต์แวร์อาจแบ่งแบบหยาบ ๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม:

  1. ผู้ใช้ซอฟต์แวร์สงวนสิทธิ์แบบมีใบอนุญาต (Proprietary Licensed)
  2. ผู้ใช้ซอฟต์แวร์แบบไม่มีใบอนุญาต (Unlicensed)
  3. ผู้ใช้ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส (Free/Open Source Licensed)

Three Software Kingdoms

แต่ละกลุ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เกาะเกี่ยวกันอยู่:

  • สิ่งที่ทุกกลุ่มสนใจร่วมกัน คือการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานให้ลุล่วง
  • สิ่งที่กลุ่ม Proprietary Licensed กับ Unlicensed สนใจร่วมกัน มักเป็นเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่ "ใคร ๆ ก็ใช้กัน" ซึ่งโดยมากไม่ใช่ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์ส
  • สิ่งที่กลุ่ม Proprietary Licensed กับกลุ่ม Free/Open Source Licensed สนใจร่วมกัน คือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ อาศัยกฎหมายลิขสิทธิ์ในการควบคุมการใช้งานซอฟต์แวร์ในลักษณะต่าง ๆ
  • สิ่งที่กลุ่ม Unlicensed กับ Free/Open Source Licensed สนใจร่วมกัน คือเรื่องความประหยัด เนื่องจากซอฟต์แวร์เถื่อนมีราคาถูก แม้จะผิดกฎหมาย ในขณะที่ซอฟต์แวร์เสรี/โอเพนซอร์สโดยทั่วไปก็ราคาถูกเช่นกัน แต่ถูกกฎหมายด้วย

ในขณะเดียวกัน แต่ละกลุ่มก็มีความสนใจในส่วนที่ไม่ร่วมกับกลุ่มอื่นด้วย:

  • กลุ่ม Proprietary Licensed จะสนใจในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ ซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์ยังคงเป็นความลับสุดยอดที่ต้องเก็บรักษาไม่ให้รั่วไหล สิทธิ์ในการใช้งานของผู้ใช้ต้องถูกตีกรอบชัดเจนเพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดผู้ผลิต ผู้ใช้จะต้องซื้อสิทธิ์ที่จะได้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง
  • กลุ่ม Unlicensed จะสนใจในความสะดวกสบายในการจัดหาซอฟต์แวร์มาใช้ ความสบายกระเป๋า โดยไม่สนใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานัก แม้ในที่สุดจะต้องอยู่อย่างพลเมืองชั้นสองบ้าง เช่น ไม่สามารถ update ซอฟต์แวร์ได้ หรือต้องคอยหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ แต่ทุกอย่างยังถือว่าอยู่ในจุดคุ้มเสี่ยง
  • กลุ่ม Free/Open Source Licensed จะสนใจในเสรีภาพและความเปิดกว้างของซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ที่จัดหามานั้น ผู้ใช้ควรมีสิทธิ์ที่จะใช้ แก้ไข แจกจ่ายต่อได้อย่างเสรี ผู้ผลิตควรเปิดรับการแก้ไขปรับปรุงต่าง ๆ ทำให้ซอฟต์แวร์กลายเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของเอกชนรายใดรายหนึ่ง แต่เรื่องเสรีภาพนี้ คงไม่ได้อยู่ในความสนใจของทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ Unlicensed

ว่ากันโดยหลักการแล้ว กลุ่ม FOSS ไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของกลุ่ม Proprietary ในเรื่องการจำกัดสิทธิ์ของผู้ใช้ เช่น การตั้งกำแพงค่า license ก่อนใช้ แถมได้ license มาแล้ว ยังไม่สามารถซ่อมแซมอะไรเองได้ ดังนั้น หลักการที่อยู่เบื้องหลังการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับกลุ่ม Proprietary ครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ในความเห็นชอบของกลุ่ม FOSS แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่ม FOSS ก็อาศัยกลไกของกฎหมายลิขสิทธิ์ในการย้อนรอยกลุ่ม Proprietary โดยใช้กฎหมายบังคับการใช้ซอฟต์แวร์ในลักษณะต่าง ๆ ที่ปกป้องสิทธิ์ของผู้ใช้ เช่น ห้ามปิดกั้นการเข้าถึงซอร์สโค้ดเมื่อผู้ใช้ร้องขอ ดังนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกลุ่ม FOSS ในทางปฏิบัติ การป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับกลุ่ม FOSS ในแง่ของการพิทักษ์กฎหมาย แต่ถ้าถามว่าควรไหมที่ซอฟต์แวร์ต้องแพงขนาดนี้ แล้วยังจำกัดสิทธิ์ผู้ใช้อีก กลุ่ม FOSS จะตอบว่าไม่ควร ซึ่งคงเป็นคำตอบเดียวกันกับกลุ่ม Unlicensed

แต่แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการถกกันในเรื่องนี้ ก็จะมีประเด็นเรื่องความคุ้นเคยกับซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่เป็น Proprietary เสมอ ๆ โดยทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ Unlicensed จะร่วมมือกันถล่มกลุ่ม FOSS ในประเด็นนี้

ในขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อไร กลุ่ม Unlicensed ก็มักโดนถล่มจากทั้งกลุ่ม Proprietary Licensed และ FOSS เช่นกัน พร้อม ๆ กับมีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม Unlicensed และกลุ่ม FOSS บ้างในการต่อสู้เรื่องราคากับกลุ่ม Proprietary Licensed

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้ซอฟต์แวร์จึงเป็นสามก๊กสามเส้า ฉะนี้

ต่อไปเป็นความเห็นของผมสำหรับการป้องปรามครั้งนี้:

  • กลุ่ม FOSS คงไม่ร่วมสังฆกรรมกับกลุ่ม Proprietary ในการซ้ำเติมกลุ่ม Unlicensed ในครั้งนี้ (ความจริง ไม่ว่าครั้งไหน ๆ ก็ไม่ควรเข้าร่วม) แต่ควรเข้าช่วยเหลือเสนอทางเลือกที่คุ้มทุน
  • กลุ่ม FOSS คงไม่หลงใหลได้ปลื้มกับการย้ายมาใช้ FOSS ของกลุ่ม Unlicensed บางส่วนนัก ด้วยสาเหตุ:
    • ต้องเหนื่อยออกแรงซัพพอร์ต รวมทั้งรับมือกับเสียงต่อต้านจากผู้ใช้ในองค์กรที่อาจถูกบังคับให้เปลี่ยน โดยอาจถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกับกลุ่ม Proprietary หรืออย่างน้อยก็ถูกมองว่ารอเสียบมานาน
    • การปราบปรามอาจไม่ยั่งยืนอะไร การเปลี่ยนอาจเป็นแค่การเปลี่ยนเพื่อบังหน้าเท่านั้น พอเรื่องซาลงก็อาจกลับไปใช้ของเถื่อนกันใหม่
    ประเด็นคือ มันเป็นการเปลี่ยนเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่การเปลี่ยนจากข้างในนั่นเอง
  • แต่ไม่ว่าอย่างไร กลุ่ม FOSS ก็ควรทำงานให้เต็มที่ตามปกติ

ป้ายกำกับ:

01 ตุลาคม 2552

Taiwan Mini-DebConf 2009

วันที่ 24 ก.ย. ไปร่วมเสวนาที่งาน OSS Fest 2009 ที่ Science Park แล้ววันรุ่งขึ้นก็บินต่อไปไทเป เพื่อร่วมงาน Mini-DebConf 2009 วันที่ 26-27 จากนั้น วันที่ 28 บินกลับกรุงเทพฯ วันที่ 29 กลับขอนแก่น

เป็นกำหนดการที่แน่นเอี้ยดมาก แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะก่อนหน้านั้นต้องเคลียร์งานอีกจมหู ทั้งงานที่โรงเรียน ทั้งงานแปล GNOME และแก้บั๊ก Pango ทำให้ต้องใช้เวลาแบบ optimize สุด ๆ โดยไปร่วม OSS Fest แค่วันเดียว แถมยังไปนั่งตรวจคำแปลในงานอีก แทบไม่ได้คุยกับใคร

งาน mini-DebConf เป็น session ย่อยในงาน ICOS 2009 ของไต้หวันอีกที โดยบังเอิญ Andrew Lee สามารถเชิญ Debian Developer มาได้หลายคน จนเกิดเป็น mini-DebConf ได้

การบรรยายในงาน ก็มีมาจากโครงการ Emdebian และ Skolelinux เสียหลายเรื่อง ทำให้ได้ทราบถึงการ customize Debian ในงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลักดันลินุกซ์เข้าไปในสถานศึกษาของ Skolelinux ซึ่งทางยุโรปและอเมริกาใต้เขาไปได้ไกลมาก ๆ

การบรรยายอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ก็มีเรื่องของ Debian culture, แนะนำ SPI ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุน Debian และโครงการโอเพนซอร์สต่าง ๆ อยู่, กลไกการทำงานของ Debian ftp-master, ประเด็นต่าง ๆ ในการ customize distro, ประสบการณ์ส่วนตัวของ Debian Developer, ทัศนะของ champion bug reporter, การใช้ dynamic library, รวมทั้งเรื่องของ RahuNAS จากประเทศไทยเองด้วย

แต่นอกเหนือจากการบรรยาย ก็ได้ทำความรู้จักกับ Debian Developer เพิ่มขึ้นอีกหลายคน ได้เจอตัวจริงของ DD คนขยันที่เคย sponsor แพกเกจให้ผมอย่าง Anibal Monsalve Salazar หรือจะเป็นคนที่เคยคุยกันใน bug report มาก่อนอย่าง Anothony Fok รวมทั้งคนลินุกซ์ของไต้หวันอีกหลายคน โอกาสอย่างนี้หาได้ไม่ง่ายนัก โดยในท้ายงานก็ได้มี key signing party เพื่อเซ็นรับรองกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ให้กัน เพื่อไว้ใช้ทำงานใน Debian ต่อไปอีกด้วย

ตอนท้ายงาน เจ้าภาพก็ได้มาหารือเรื่องการจัด DebCamp ปลายปีนี้ โดยถ้าประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ ก็จะเป็นการปูทางให้เกิด event ต่าง ๆ ขึ้นในประเทศไทยต่อไป รวมถึง DebConf ด้วย

โชคดีที่ครั้งนี้เราได้ อ.กิตติ์ ร่วมเดินทางไปด้วย ทำให้ได้สังเกตการณ์การจัดงาน และก่อนไป อ.กิตติ์ ได้คุยกับผู้บริหารไว้แล้ว ว่าอาจสนับสนุน event เช่นนี้ในประเทศไทย ก็เลยตกลงว่าไทยเรารับเป็นเจ้าภาพจัด DebCamp 2009 ปลายปีนี้แล้ว โดย อ.กิตติ์ รับเป็นผู้ประสานงานให้ แนวทางก็คือ อยากให้งานนี้เป็นงานที่ชุมชนร่วมกันจัด ก็อาจจะขอการสนับสนุนจากหน่วยงานอย่าง มข., NECTEC, SIPA และขอแรงจากชุมชนต่าง ๆ อย่าง UbuntuClub, DebianClub ฯลฯ โดยเรามีเวลาเหลืออีกไม่มาก นับจากวันนี้จนถึงกำหนดตอนสิ้นปี ก็เหลือเพียงไม่ถึง 3 เดือนเท่านั้นสำหรับจัดงานนี้

แนวคิดของ DebCamp คือ เป็นงานในลักษณะ hack fest ของชาว Debian พร้อม ๆ กับเป็นการทำความรู้จักระหว่าง DD กับชุมชน Debian ในท้องถิ่น โดยในโอกาสนี้ก็เป็นการเที่ยวพักผ่อนของ DD ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปในตัว

เนื่องจาก Debian ไม่ได้เป็นหน่วยงานแสวงกำไร การจัดงานต่าง ๆ จึงเน้นเรื่องการประหยัดงบประมาณเป็นหลัก ก็เลยพยายามหาสถานที่ที่ไม่แพง เช่น ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว อยู่ชานเมือง แต่ยังเดินทางสะดวก และมีอินเทอร์เน็ตที่ใช้การได้ดี โดยในครั้งนี้อาจต้องหาโปรแกรมเที่ยวไว้รองรับด้วย

แต่ที่สำคัญที่คนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ คือการได้ทำความรู้จักกับ Debian Developer ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมงานช่วยเหลือกันต่อไปในอนาคต จากที่ได้เห็นในงาน mini-DebConf ก็ปรากฏว่าผู้มาร่วมงานมีทั้งผู้ใช้ Debian และ Ubuntu ปะปนกัน ทางฝั่ง DD เองก็มาจากทั้ง Debian, Ubuntu, Skolelinux โดยร่วมงานกันในนาม Debian อย่างสนิทสนม เป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกได้ว่า Debian และ derivative distro ต่าง ๆ เป็นครอบครัวเดียวกันอย่างแท้จริง

ดังนั้น งานนี้ ไม่น่าจะจำกัดอยู่แค่ผู้ใช้ Debian นะครับ ผู้ใช้ Ubuntu หรือ derivative ใด ๆ ของ Debian ก็สามารถเข้าร่วมได้อย่างสบาย หรือแม้กระทั่งไม่ใช่ตระกูล Debian เลย ก็ยังอาจหาช่องทางที่จะทำงานร่วมกันได้

ถ้าสนใจจะเข้าร่วม อ.กิตติ์ ได้นัดประชุมทาง IRC ที่ห้อง #tlwg ที่ irc.linux.in.th วันศุกร์ที่ 2 ต.ค. (พรุ่งนี้) เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และติดตามความคืบหน้าต่าง ๆ ได้ที่หน้า Debian Wiki ครับ

ป้ายกำกับ: , , , , ,

hacker emblem