Theppitak's blog

My personal blog.

22 กุมภาพันธ์ 2551

Better is Worse (2)

หลังจากที่ blog เรื่อง Better is Worse ไปแล้ว ก็ปรากฏว่ามีความคิดเห็น รวมถึงพบว่ามีลิงก์จาก duocore และ ubuntuclub กลับมา เกินความคาดหมายเหมือนกันที่ได้เป็นประเด็นใน duocore

แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ชุมชนลินุกซ์หรือคนไอทีน่าจะสนใจอยู่แล้ว บังเอิญว่า blog ผมได้เข้าไปเป็นความเห็นประกอบเท่านั้น แต่ความตั้งใจเดิมนั้น ผม blog เพราะคำพูดของไลนัสที่ผมยกมามันโดนใจผมพอดี ในแง่ที่รู้สึกกดดันกับความเฉื่อยของตลาด เมื่อสิ่งที่บกพร่องกลับมามีอำนาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกต้องให้บกพร่องตามไปด้วย โดยที่ผมไม่ได้มุ่งที่ประเด็นความไม่ติดตลาดของลินุกซ์สักเท่าไร อย่างที่ตอบใน ความเห็น ใน blog นั้น ว่าผมไม่แคร์

แต่จะเห็นว่า ในตลาดนั้น คุณจะเห็นข้อบกพร่องของเดสก์ท็อปลินุกซ์ได้ง่ายกว่าข้อดีของมันมาก เพราะถึงจะดีกว่า แต่ก็ "better is worse"

แต่ไหน ๆ duocore ก็ได้จุดประเด็นนี้ขึ้นมาแล้ว ผมเห็นด้วยกับอาทในเรื่องความขาดเอกภาพของเดสก์ท็อปลินุกซ์ แต่ผมก็เห็นแนวโน้มที่ปัญหานี้จะค่อย ๆ ลดลง หลังเกิดการจัดระเบียบตัวเองของชุมชน ตอนนี้ GNOME Human Interface Guidelines (HIG) ก็เริ่มมีผลมากขึ้นในชุมชน GNOME, โครงการต่าง ๆ ใน freedesktop ก็เริ่มลดความแตกต่างระหว่าง GNOME และ KDE ให้น้อยลง, Mozilla และ OpenOffice.org เองก็เริ่มมีการเชื่อมรวมกับ GNOME มากขึ้น, ทีมแปลต่าง ๆ ของไทยเอง ก็มีการ รวมตัวกัน เพื่อกำหนดคำแปลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้ กำลังจะสร้างเอกภาพของเดสก์ท็อปลินุกซ์มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ใช้

เรื่องไดรเวอร์ที่ทุกคนบ่นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งผมก็ไม่เถียง ท่าทีของผมต่อปัญหานี้คือ ผมไม่สนับสนุนสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับซอฟต์แวร์เสรี เรื่องนี้กลายเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งเวลาจะซื้อฮาร์ดแวร์ของผม คือต้องสำรวจไดรเวอร์ก่อนซื้อของ แทนที่จะซื้อของแล้วค่อยมาหาไดรเวอร์ ประเด็นนี้ทำให้ผมตัดฮาร์ดแวร์ที่ผู้ผลิตไม่สนับสนุนโอเพนซอร์สทิ้ง (เช่น ATI, nVidia) ซึ่งก็ทำให้ตัวเลือก CPU อย่าง AMD ที่มักมาพร้อมกับชิปเซ็ตเหล่านี้ ไม่ใช่ชิปเซ็ตของ Intel ที่มีนโยบายสนับสนุนโอเพนซอร์สชัดเจน ต้องถูกตัดไปด้วย เป็นต้น (แต่หลังจาก ATI เปิดสเปค เรื่องนี้คงมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป) ผมไม่สนใจว่าผู้ผลิตมีไดรเวอร์ให้โหลด ถ้ามัน non-free ผมก็ไม่ใช้เลย เป็นการ "vote no" ต่อสินค้าในฐานะผู้ใช้ลินุกซ์ นอกเหนือจากปัญหาทางเทคนิคที่ต้องคอยอัปเกรดไดรเวอร์ด้วยระบบต่างหากจากของ distro (บางคนอาจบอกว่า debian/ubuntu ก็มี non-free installer ให้ แต่ผมเห็นว่ามันเป็นส่วน unsupported ของ distro เวลาอัปเกรดก็จะติดขัดไม่ราบรื่นอยู่ดี)

ในขณะที่ผมเคารพสิทธิ์ของผู้คนที่จะจำยอมใช้วิธี non-free เพื่อใช้ฮาร์ดแวร์เหล่านั้น หรือเข้าใจในข้อจำกัดในหลายกรณีของระบบการทำงานในองค์กร แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะจำยอมหากเลือกได้ (เช่น ในการซื้อเครื่องส่วนตัว) เพราะการที่ผู้ใช้ลินุกซ์ยังซื้อของของเขาอยู่ ก็ทำให้เขาอ้างได้ว่า ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แล้วก็เพิกเฉยที่จะดำเนินการ

ผมจริงจังเกินไปไหม? ผมได้พูดก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่หรือ? ว่าผมใช้ลินุกซ์ในฐานะที่มันเป็นลินุกซ์จริง ๆ ผมจึงใช้ลินุกซ์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ให้ปัจจัยแวดล้อมมากดดันการใช้งานของผม

ตรงนี้ก็เลยรวมไปถึงประเด็นเรื่องการเรียนรู้ หรือความบกพร่องในบางเรื่องของลินุกซ์ แน่นอนว่าถ้าคุณตกลงปลงใจที่จะอยู่กับมันแล้ว คุณย่อมพร้อมจะเรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ เรียนรู้ปรัชญา รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่คุณพบ ในเมื่อคุณได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่แล้วในโลกใบนี้ และคุณก็ไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยวด้วย แรงงานที่คุณใส่เข้าไป เป็นเพียงหนึ่งในกองทัพมดที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทุกคนล้วนแต่รับมากกว่าให้ทั้งนั้น

15 กุมภาพันธ์ 2551

Better is Worse

ไลนัส ทอร์วัลด์ ให้สัมภาษณ์ เมื่ออาทิตย์ก่อน เกี่ยวกับว่าทำไมลินุกซ์เดสก์ท็อปถึงไม่ติดตลาดเสียที ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเพราะผู้คนยังคุ้นเคยกับสิ่งเดิม ๆ และ:

“If you act differently from Windows, even if you act in some ways better, it doesn’t matter; better is worse if it’s different.”

มีประโยคไทยที่ตรงกับ “I can’t agree with you more.” ไหม? ผมก็หมายถึงอย่างนั้นแหละ “ไม่รู้จะเห็นด้วยมากกว่านี้ได้ยังไงอีก” เราเองก็รู้ ๆ กันอยู่ เกิดอะไรขึ้นเมื่อเบราว์เซอร์ของ Mozilla ทำงานได้ดีกว่า IE? มันแทบไม่มีผลอะไรเลย ในเมื่อเว็บไซต์ทั่วเมืองต่างออกแบบมาเพื่อ IE อะไรที่ IE มีบั๊ก ก็ต้องก้มหน้าแก้หลบบั๊ก IE ให้ได้ แม้จะละเมิดมาตรฐานก็ช่างปะไร จะใส่ใจไปเปลี่ยนหลอดไฟทำไม ในเมื่อ “ท่าน” ได้ประกาศให้ความมืดเป็นมาตรฐานของโลกแล้ว ยิ่งพวกหลอดผอม หลอดตะเกียบ ดัดจริตทั้งเพ

เว็บมาสเตอร์สักกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะแคร์ปัญหาของผู้ใช้ Gecko เมื่อมีรายงานจากผู้เข้าชมเว็บ? หรือแม้กระทั่งคำว่า “มาตรฐาน”?

เรื่องเบา ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียสเท่าเรื่องเบราว์เซอร์ก็คือ เมื่อไรโปรแกรมทั้งหลายจะสนับสนุน OpenType แบบเต็มที่เสียที? ทำระบบ render และฟอนต์ OpenType ภาษาไทยอย่างดีมาได้สี่ปีแล้ว จนถึงทุกวันนี้ ฟอนต์ก็ยัง render ได้แค่บนลินุกซ์ (วินโดวส์น่าจะได้ด้วย พอดีผมไม่ได้ลอง) แต่ระบบอื่นที่ยังไม่สนับสนุน ทำให้ฟอนต์ render ไม่สวย แทนที่ผู้คนจะว่าเป็นปัญหาของโปรแกรม กลับกลายเป็นปัญหาของคนทำฟอนต์ไปเสียฉิบ..

รังแตนอร่อยดีครับ ไม่ต้องแปลกใจ ฮี่ ๆ

13 กุมภาพันธ์ 2551

GNOME 2.22 Translation

มีหลายสาเหตุที่ผมจะห่างจากการ blog ไป บางทีก็เพราะไม่มีเรื่องน่า blog บางทีก็เพราะไม่มีเวลา blog ที่ห่างไปคราวนี้เป็นสาเหตุหลัง

ช่วงนี้ นอกจากช่วยตอบคำถามสำหรับทีม Suriyan ผ่านทาง thai-linux-foss-devel mailing list เกี่ยวกับ KDE 4 รวมถึงงานพัฒนาจิปาถะอีกหลายรายการแล้ว งานแปล GNOME ก็กำลังเข้มข้น เมื่อ GNOME 2.22 มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย (ตัวอย่างบางตอน) จนทำให้ข้อความใหม่ที่เกิดขึ้น ดันอัตราการแปลของภาษาไทยหล่นฮวบมาอยู่ที่ 76% คือต่ำกว่าเกณฑ์ supported language เลยทีเดียว

นับตั้งแต่ ประกาศเริ่มแปล ใน mailing list ก็ทยอยแปลมาเรื่อย ๆ สลับกับงานอื่น จนกระทั่งมาแตะ 80% แว้บหนึ่งเมื่อวันก่อน ก่อนที่จะหล่นมา 79% อีก

วันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นวัน กำหนด tarballs due ของ GNOME 2.22 Beta 2 (2.21.91) ซึ่งจะประกาศปล่อยในวันนี้ และเป็นการเข้าสู่ช่วง string freeze ซึ่งจะไม่มีการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงข้อความโดยไม่ได้รับอนุมัติจากทีม i18n อีก กล่าวคือ เป็นเวลาที่ทีมแปลจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับข้อความใหม่ (ยกเว้นรายการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะแจ้งใน gnome-i18n mailing list)

ก่อนจะถึง tarballs due ก็เลยให้เวลากับงานแปล 100% เพื่อให้คำแปลไปถึง distro ต่าง ๆ พร้อมกับ tarball ให้มากที่สุด และผ่านหูผ่านตาผู้ทดสอบ beta เป็นการเพิ่มโอกาส bug report (ซึ่งไม่รู้จะมาถึงต้นน้ำหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่ทำอะไร) อีกทั้งเป็นการเคลียร์ข้อความในแพกเกจเดิม เพื่อจะได้เริ่มแปลแพกเกจใหม่ ๆ หลัง beta ด้วย

ใครอยาก ร่วมแปล GNOME 2.22 ก็เชิญได้นะครับ เลือกแพกเกจที่ยังแดงอยู่ (ดูฝั่งขวาก่อน ส่วนฝั่งซ้ายเป็น manual) แล้วมาคุยกันที่ thai-l10n mailing list ได้ครับ

ป้ายกำกับ: ,

hacker emblem