Theppitak's blog

My personal blog.

27 มิถุนายน 2549

JHBuild Hack of the Day

เมื่อวาน build GNOME 2.15 ใหม่ ด้วย jhbuild ซึ่งถ้าดูจาก tinderbox จะพบว่ามันตายตรง gtk+ โดยมี error message ว่า

#error Cairo was not compiled with support for the xlib backend

เลยชักตะหงิดๆ เหมือนกันว่าจะมีปัญหา แต่ยังไม่ทำอะไร เพราะพยายามทำงานแปลอยู่ จนกระทั่งเมื่อเช้า เปิดเครื่องมาใหม่ ก็พบว่าเข้า GNOME ไม่ได้จริงๆ

ปัญหาอยู่ที่ cairo ไม่ยอม build Xlib backend ให้ แกะไปแกะมาจนพบว่า configure script ดูเหมือนยังคงสมมุติอยู่ ว่า Xlib ต้องติดตั้งที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่ /usr/lib เช่น /usr/X11R6/lib เพราะฉะนั้น ต้องหลอกมันโดยใส่ configure option "--x-libraries=/usr/lib" โดยเพิ่มบรรทัดนี้ใน ~/.jhbuildrc

module_autogenargs['cairo'] = autogenargs + ' --x-libraries=/usr/lib'

จากนั้นสั่ง "jhbuild buildone -na cairo" แล้วเข้า GNOME ใหม่ เป็นอันรอดชีวิต :-)

24 มิถุนายน 2549

Thai Resources in CTAN

หลังจากถูกกระทุ้งจาก Werner Lemberg มานาน ว่าให้ upload thailatex เข้า CTAN เสีย ก็กะว่าจะทำ หรือรอให้พร้อมกว่านี้สักหน่อย ค่อยอัพโหลดในรุ่นหน้า แต่เนื่องจากเขาช่วยดัน thailatex เข้า texlive ด้วย แล้วเงื่อนไขของ texlive คือ ทุกแพกเกจที่จะรวม ต้องอยู่ใน CTAN ก็เลยถือโอกาสจัดการเสีย

ขณะนี้ ทรัพยากรที่รวมรวมที่ LTN ได้เข้าไปอยู่ใน CTAN แล้วสองรายการ คือ ThaiLaTeX (CTAN: /tex-archive/language/thai/thailatex) และ thaifonts-scalable (CTAN: /tex-archive/fonts/thai/thaifonts-scalable) เขา request ด้วยว่า ให้เตรียม PDF preview รวมไว้ในแพกเกจด้วย ไว้ต้องทำก่อน release รุ่นหน้า

แต่ว่า.. ที่โดนกระทุ้งมาหลายทีแล้วเหมือนกันคือ "ติดต่อ babel หรือยัง?" [เดี๋ยวคร้าบ.. รอให้ว่างก่อนคร้าบ ^_^'] มีไอเดียว่าจะจัดโครงสร้างระหว่าง thailatex กับ thaifonts-scalable อยู่เหมือนกัน โดยค่อยๆ ยุบ จนกระทั่ง thailatex หายไปในที่สุด (i.e. thailatex must die!) แต่ต้องค่อยๆ คิดไปทีละขั้น

19 มิถุนายน 2549

DebConf 9 in Thailand?

เรื่องนี้หลายวันมาแล้วแหละ แต่ไม่ได้เขียนเสียที เริ่มจากได้รับเมลส่งต่อจากคุณทิม ว่า Martin F. Krafft (madduck) ได้เสนอให้จัด DebConf 9 ที่ประเทศไทย!

DebConf เป็น conference ประจำปีของชาว Debian ที่มาพบปะระดมสมอง ร่วมกันทำงาน นำเสนอความคืบหน้า เสนอหัวข้อที่จะปรับปรุง Debian โดย DebConf ครั้งล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนที่แล้ว คือ DebConf 6 ที่เม็กซิโก

จากประวัติการจัด DebConf ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผลัดกันจัดในทวีปยุโรปและอเมริกามาตลอด ตอนช่วงที่ได้เจอกับนักพัฒนา Ubuntu เขาก็บอกว่า มีแนวคิดที่จะเสนอจัด DebConf ในแถบเอเชียด้วยเหมือนกัน และถ้าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ DebConf 9 จริงๆ ก็จะเป็นครั้งแรกของ DebConf ในเอเชีย!

ดูรายละเอียดของประเด็นที่ต้องเตรียมการได้ที่ Debian Wiki ซึ่งในครั้งเดียวกันนี้ ยังมี candidate ที่เสนอเป็นเจ้าภาพ DebConf อีก 3 แห่ง คือ เบลเยียม, กรีซ และ แคนาดา

ทำให้รู้สึกว่า ต้องไปสังเกตการณ์ DebConf จริงๆ สักครั้ง ตามที่ bubulle เคยชวนละ :P แต่ดูอัลบัมรูปของชาวบ้านไปก่อนก็ได้:

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ madduck ผู้เสนอให้จัดที่ประเทศไทย เคยมาเที่ยวเมืองไทย ช่วงสงกรานต์ แล้วชอบวัฒนธรรมและนิสัยคนไทย ก็เลยเป็นเหตุให้เสนอ เพื่อจะได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทยอีก :-)

เลยส่งข่าวไปให้ผู้ที่น่าจะเกี่ยวข้อง โดยอาจจะช่วยให้ใช้สถานที่ หรือช่วยสนับสนุน (เห็น Mark blog ไว้ เหมือนกัน) แต่คนที่น่าจะมีส่วนสำคัญต่อเนื้องาน คือคนในชุมชน Debian/Ubuntu นี่แหละ

16 มิถุนายน 2549

Debian as Supermarket?

อ่าน DWN ฉบับล่าสุด แล้วสะดุดกับคำว่า Supermarket ที่ Joey Hess เปรียบเปรยใน DebConf ครั้งล่าสุด ตามรายงาน ว่า Debian กำลังจะกลายเป็น supermarket ในที่สุด ที่คนทำแพกเกจก็ทำมาวางตามชั้นรอไว้ แล้วคนปรุงก็มาเลือกของไปแพ็คเป็น distro อย่าง Knoppix, Mepis, Damn Small หรือ Ubuntu แต่ Joey ก็ได้ อธิบายเพิ่มเติม ว่า Debian ไม่ใช่ supermarket ที่เป็นแค่ที่วางของ แต่ความสอดคล้องระหว่างแพกเกจต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ Debian เน้น ซึ่งจากที่ได้สัมผัสการทำงานของ Debian มา ก็เข้าใจได้เลย ว่าพอทำแพกเกจขึ้นมา จะมีคนทำงานกลุ่มต่างๆ คอยคอมเมนต์แพกเกจ เพื่อรับประกันว่าแพกเกจทำตาม policy เปรี๊ยะๆ และมีคนที่เป็น core อย่าง Joey เองและคนอื่นๆ ที่คอยประสานงานการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งระบบ อย่างที่ Joey บรรยายว่า:

If that motive goes away I fear Debian could be left with mostly developers who are happily motivated with just packaging another peice of software. While there's nothing wrong with feeling that way and working on that basis, we don't want to lose the people who want to work on things that cut across sets of packages, like speeding up the boot time, improving the installation experience, making the distribution attractive for speakers of $language, making sure Debian supports as much hardware as best it can, porting Debian to interesting new architectures, integrating Xen and SE Linux with Debian, making a useful default desktop install, etc.

จุดที่ Joey ไม่สบายใจเกี่ยวกับกระแส Ubuntu ก็คือ มันจะทำให้ Debian กลายเป็น supermarket จริงๆ เมื่อความสนใจของนักพัฒนาย้ายไปที่ Ubuntu กัน แล้วโยนๆ patch กลับมา แล้วคน Debian ที่เหลือ ก็วุ่นอยู่กับการไล่ตามและหาทาง integrate

จะว่าไป กระแส Ubuntu ก็มีทั้งดีและไม่ดีกับ Debian การจะเข้าใจประเด็นนี้ ต้องไม่มองว่าสอง distro นี้เป็นคู่แข่งกัน แต่ต้องมองไปที่ mission เริ่มแรกของ Debian ที่จะเตรียม base distro ที่ดีที่สุด แล้วส่งเสริมให้ทุกคนเอาไปปรุงตามความสนใจของตน ซึ่งที่ผ่านมา distro จำนวนมาก ก็ได้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดนี้ แล้วก็ได้พบการสมทบงานกลับมาที่แกนกลาง เป็นการพึ่งพาอาศัยกันที่ทำให้โครงการต่างๆ เหล่านี้ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ผ่าน Debian ที่เป็นแกนกลาง แต่กรณีของ Ubuntu ที่มีการดึงทรัพยากรออกไปด้วย การพึ่งพาอาศัยเลยแปลกไป

เรื่องนี้มันซ้อนกันหลายชั้น ถ้าระบบนิเวศน์ของ FOSS จะแบ่งเป็น upstream กับ distro ที่พึ่งพาอาศัยกันผ่านการบริโภคและป้อนกลับ Debian ก็คล้ายๆ กับเป็น upstream สำหรับ Ubuntu อีกทอดหนึ่งเหมือนกัน Mark Shuttleworth ก็ดูจะมีทัศนคติที่ดีกับ Debian อยู่ ก็ได้แต่หวังว่า ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตระกูล Debian จะไม่ถูกแยกออกจากกันด้วยความ popular ของ Ubuntu และกลุ่มผู้ใช้และนัก advocate เอง

13 มิถุนายน 2549

Switching

เว้นว่างการ blog เล่ากิจกรรมไปนาน เพราะอยากเปลี่ยนบรรยากาศของ blog มั่ง ไม่ให้เหมือน reality show มากเกินไป อีกทั้งเปลี่ยนบรรยากาศตัวเองด้วย แต่ในระหว่างนี้ก็ยังทำงานอยู่เรื่อยๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาก็สลับไปๆ มาๆ ระหว่างงานแปล GNOME กับงานของ Debian

งานแปล GNOME ก็ไล่แปลข้อความใหม่ตามปกติ แล้วก็ merge คำแปลที่คุณ roys นักแปลจากทีม Ubuntu ส่งมาให้ นอกจากนี้ ก็เป็นการตรวจแก้คำแปล GCompris (ยังไม่เสร็จ)

ส่วนงานของ Debian ก็มีข้อความใหม่ใน debian-installer ให้ไล่ตาม บวกกับการทำแพกเกจ thaifonts-scalable ตัวใหม่ เพื่อจัดการประเด็นเพิ่มเติม ก็ปรากฏว่า 0.4.4-4 (ทำ transition package, ตัด debconf dialog, ปรับ standard version) ได้เข้า sid ไปแล้ว แต่ 0.4.4-5 (ปรับ defoma hints, สร้าง udeb สำหรับ debian-installer) ยังต้องรอผ่าน NEW queue เพราะมีการเพิ่มรายการใหม่

บรรยากาศการทำงานช่วงที่ผ่านมา เลยเป็น GNOME กับ Debian วันเว้นวัน ประมาณนั้น :-)

10 มิถุนายน 2549

ขอบคุณ

ขอขอบคุณ คุณพิชิต จิตประไพ ผู้ หย่อนสตางค์ลงหมวก อีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณในการสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ถือเป็นกำลังใจอย่างดีสำหรับการทำงานของผมทางหนึ่ง

ปล. สำหรับผู้ที่ส่งเงินสนับสนุนทาง Paysbuy กรุณาระงับไว้ก่อน เนื่องจากผมไม่ได้ใช้เลย ตั้งแต่สมัครมา ทำให้ลืมรหัสผ่าน และไม่แน่ใจว่า account ถูกระงับไปหรือยัง

07 มิถุนายน 2549

เข้ากรุง

หายตัวจากเน็ตไปหลายวัน พอดีแอบเข้ากรุงไปทำสองเรื่อง ที่บังเอิญประจวบเหมาะได้โอกาส เรื่องแรกคือดูงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่เมืองทองธานี กับอีกเรื่องคือไปพบกับ Christian Perrier (ชื่อ irc: bubulle) ซึ่งเป็น Debian Developer ที่ active ในเรื่อง I18N รวมทั้งรับอาสาประสานงานเรื่อง I18N กับทีมภาษาต่างๆ

งานนิทรรศการใหญ่โตมากๆ เทคโนโลยีที่ใช้จัดแสดงก็หรูหราสุดๆ แต่ที่สำคัญคือ เดินดูฮอลล์ต่างๆ แล้ว ได้ซึมซับแนวพระราชดำริด้านต่างๆ มากมาย จนรู้สึกได้ในรายละเอียดมากกว่าเดิมที่เคยรู้มา ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์นี้ ทรงเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาในแทบทุกด้านจริงๆ พระราชกรณียกิจ โครงการในพระราชดำริ เยอะจนน่าทึ่ง ว่าชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลกที่เคยอ่านมา จะมีรายละเอียดมากเท่าของในหลวงของเราได้หรือ

พอดีกะจะเข้าไปดูมหานาฏกรรมมหาชนกด้วย แต่คนยังกับหนอน ยุ่บยั่บเต็มเมืองทองธานีจนแทบไม่มีที่จะยืน (ผมว่าพื้นที่เขาก็กว้างอยู่นะ) แถวซื้อตั๋วก็หาหางแถวแทบไม่เจอ เราไม่ได้จองล่วงหน้า เพราะตอนเข้าเว็บ ตั๋วเต็มหมดแล้ว เลยตัดใจ ใช้เวลาที่เหลือเดินดูฮอลล์จนทั่ว

ส่วนที่ไปพบ Christian Perrier พอดีว่าเขา ได้รับเชิญ ไปกล่าว keynote speech ใน งานเปิดตัว Dzongkha Linux ที่ภูฏาน โดยต้องมาเปลี่ยนเครื่องบินที่ดอนเมือง ช่วงเวลาระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง เขาสามารถพบปะคนไทยที่สนามบินได้ เลยจัดแจงนัดแนะมาพบกัน พร้อมๆ กับคนอื่นๆ ที่สนใจ Debian อีกจำนวนหนึ่ง (นัดแบบเงียบๆ เพราะเกรงใจเขาว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาพักระหว่างรอเครื่อง)

พบแล้ว เลยได้คุยกันหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับภูฏานที่เขาไปมา แล้วก็เรื่องของไทยเรา ก็ได้พบว่าที่ภูฏานเขาโปรโมทลินุกซ์เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว เพราะทางราชการได้ประกาศให้ใช้ภาษา Dzongkha ในเอกสารราชการต่างๆ แต่ยังติดอยู่ที่ไม่สามารถใช้ภาษา Dzongkha ในคอมพิวเตอร์ได้ และตลาดเขาก็เล็กเกินกว่าไมโครซอฟท์จะให้ความสำคัญ รัฐบาลก็เลยดำริที่จะทำเอง โดยใช้ลินุกซ์เป็นหลัก โดยร่วมกับโครงการ Dzongkha Localization และด้วยการสนับสนุนจากโครงการ Pan Localization ซึ่งก็ได้พบว่า ภาษาน้องใหม่นี้ พัฒนาคืบหน้าอย่างรวดเร็วมาก ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการแปลข้อความ เรียกว่าแซงทีมอื่นๆ รวมทั้งทีมฝรั่งบางทีม และทีมไทยเราด้วย อย่างพรวดพราด จนหลายทีมแอบอิจฉา ในทีมงานที่พร้อมพรักของเขา

มาวันนี้ Dzongkha Linux ที่ใช้ Debian เป็นฐาน พร้อมแล้วสำหรับการใช้งานโดยผู้ใช้ทั่วไป และในองค์กรของรัฐ รายละเอียดดูได้จาก รายงานของ Christian

ส่วนเรื่องของไทยเรา ก็เล่าให้เขาฟัง ว่าในประเทศเรามีกลุ่มทำงานกลุ่มไหนบ้าง สถานการณ์เป็นยังไง แล้วก็คุยกันถึงเรื่องประเด็นต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ สำหรับภาษาไทยใน Debian และ Ubuntu

และที่ขาดไม่ได้ คือการเซ็นรับรอง OpenPGP key กัน เพื่อยืนยันลายเซ็นที่เราจะใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของ Debian ต่อไป โดยตรวจสอบว่าใช่ตัวตนจริง แล้วก็แลก fingerprint สำหรับใช้ตรวจสอบ key ขณะเซ็นที่บ้านต่อไป

/me ทำนามบัตรครั้งหน้า ใส่ OpenPGP fingerprint ในบัตรด้วยดีกว่า เห็นคน Debian หลายคนเขาทำกันเป็นปกติเลย :-P

02 มิถุนายน 2549

Books vs Internet

ได้ยินหลายคนพูดถึงความแตกต่างระหว่างหนังสือกับอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ ซึ่งในยุคนี้ คงเกิดคำถามขึ้นเรื่อยๆ ว่าหนังสือจะหมดความจำเป็นลงเรื่อยๆ หรือเปล่า หลายคนให้ข้อคิดเห็นต่างๆ กัน เช่น หนังสือ search ได้ไม่เร็วเท่าอินเทอร์เน็ต หนังสือกินเนื้อที่จัดเก็บทางกายภาพ หนังสือเก่าขาดได้ หนังสือคัดลอกไม่สะดวกเท่าเว็บ หนังสือข้อมูลไม่ฉับไวพอ ฯลฯ ส่วนสำหรับคนรักหนังสือ ก็จะบอกว่า หนังสือสืบค้นได้ และประสบการณ์ในการสืบค้นนั้น มันอาศัยสมองนึกคิดมากกว่า ได้อรรถรสของการแสวงหามากกว่า โดยเฉพาะการได้ดั้นด้นไปห้องสมุดนั้น ทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศของสถานศึกษาไปด้วย นอกจากนี้ การอ่านหนังสือยังได้หยิบได้จับ ได้กลิ่นกระดาษ และที่สำคัญ หลายคนอ่านหน้าจอไม่ได้นานเท่าหนังสือ

แต่เช้านี้ เกิดข้อสังเกตอีกอย่าง ที่คิดๆ ดูแล้ว อาจอธิบายไปถึงการใช้ภาษาไทยผิดๆ ของคนยุคนี้ได้ด้วย คือหนังสือผลิตยากกว่า จึงต้องผ่านการกลั่นกรองมากกว่าโดยปกติ ผู้ที่แต่งตำรา จึงมักเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งคงระมัดระวังเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว แล้วก็ยังมีการพิสูจน์อักษรอีกชั้นของสำนักพิมพ์ ในขณะที่เว็บนั้น โดยส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยผู้จบสาขาวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักเห็นมีข้ออ้างบ่อยๆ เมื่อถูกติงเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ว่า "ผม/ดิฉันไม่ได้จบอักษรศาสตร์นี่ครับ/คะ" เป็นข้ออ้างที่ดูฟังขึ้น ถ้าสมมุติว่า มีนักอักษรศาสตร์ช่วยกลั่นกรองในการเตรียมเนื้อหาต่างๆ ของเขาด้วย

แต่ในการเตรียมเว็บเกือบทั้งหมด มันไม่ใช่ เมื่อสื่อหลักของยุคนี้ ถูกสร้างและดูแลโดยวิศวกร ที่ค่อนข้างปล่อยปละละเลยเรื่องการใช้ภาษา ก็เลยกลายเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ บางทีเว็บมาสเตอร์ถึงกับตอบด้วยความภูมิใจด้วยซ้ำ ที่ได้สะกดผิด โดยประกาศศักดาว่า "ข้าฯ เป็นนักคอมพิวเตอร์นะ (โว้ย) มีสิทธิ์สะกดผิดได้ ตราบใดที่เนื้อหาของข้าฯ แน่นพอ" แต่ปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อคูณด้วยจำนวนเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้น และมาแทนที่หนังสือที่เป็นสื่อที่ผ่านการกลั่นกรองมากกว่าโดยเฉลี่ย ก็กลายเป็นการสร้าง "ภาษา" แบบใหม่ขึ้น แล้วเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ภาษาเพี้ยนๆ เหล่านั้น

นี่น่าจะเป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างหนังสือกับอินเทอร์เน็ต คือเรื่องคุณภาพของเนื้อหาโดยเฉลี่ย และผลข้างเคียงที่อาจนึกไม่ถึง คือการสร้างความแปรปรวนขึ้นในภาษา

ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ว่าควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ยอมรับมัน? จับวิศวกรมาเรียนภาษา? สอนครูให้สร้างเว็บเอง (อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน)? ให้มีการท้วงติง-พิสูจน์อักษร? สำหรับตัวเองที่เป็นวิศวกร คิดว่าการให้วิศวกรเรียนภาษาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด :-)

hacker emblem