Abacus
วันนี้วันอาทิตย์ ตั้งใจจะงดทำงานให้ได้ เพราะไม่ได้ปรับสมองไปหาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์มานานแล้ว ก็เลยไปเดินศึกษาภัณฑ์ (ขอนแก่น) แถวๆ แผนกอุปกรณ์ ตั้งใจจะหาลูกคิดญี่ปุ่นสักราง แต่ระหว่างนั้น ก็เดินดูอุปกรณ์อย่างอื่นไปด้วย เดินผ่านแผนกอุปกรณ์ฟิสิกส์ ก็เหมือนได้กลับไปหาของเล่นเก่าๆ สมัยเรียน มีรถทดลอง ผงตะไบเหล็ก แผ่นโพลารอยด์ กระจกเว้า ฯลฯ รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังดูดซับความรู้สึกของ "โลกกายภาพ" หลังจากอยู่ใน "โลกเสมือนจริง" มานานเกินไป งานที่ทำก็อยู่แต่กับตรรกะ ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้แบบนี้ ยังแปลกใจตัวเองเหมือนกัน ที่ถึงแม้ฟิสิกส์ โดยเฉพาะกลศาสตร์ จะเป็นวิชาโปรดสมัยเรียน และมีชุดคิทอิเล็กทรอนิกส์เป็นของเล่นยามว่าง แต่พอเจอคอมพิวเตอร์เข้า กลับกระโดดจับเรื่องซอฟต์แวร์อย่างเต็มที่ ไม่สนฮาร์ดแวร์แม้แต่น้อย (Programmers don't do hardware.)
กลับมาที่เรื่องลูกคิด เดิมผมมีลูกคิดจีนที่บ้านอยู่แล้วรางหนึ่ง ไม่ได้เอาไว้คิดบัญชีอะไรหรอก แต่เอาไว้ฝึกบวกเลขแก้เซ็ง (พ่อเคยสอนคูณเลขนานมาแล้ว ลืมสูตรไปเรียบร้อย) ลูกคิดจีนมันจะมีหลักละ 7 ลูก บน 2 ล่าง 5 ซึ่งถ้าใช้สูตรเป็น มันจะใช้แค่ 5 ลูกเท่านั้น คือลูกบนสุดกับล่างสุดจะไม่ต้องใช้เลย แค่ลูกบน 1 ล่าง 4 ก็เพียงพอจะแทนเลข 0 ถึง 9 แล้ว และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ลูกคิดญี่ปุ่นเขาตัดสองลูกที่ไม่จำเป็นออก
พูดถึงเรื่องการตัดสิ่งไม่จำเป็นของญี่ปุ่นเนี่ย รู้สึกเหมือนเป็นลักษณะหนึ่งของวัฒนธรรมเขา อย่างขลุ่ยญี่ปุ่นที่เคยเห็น ก็จะมีแค่ 6 รู (ของไทยมี 8 รู ถ้านับรูที่นิ้วโป้งซ้ายสำหรับเสียง C สูงด้วย) ตัด 2 รูบนซึ่งเป็นเสียง C, C# สูงออก เพราะสามารถเป่าได้ด้วยเสียงสูงของ C ปกติอยู่แล้ว (แต่ผมว่าไม่น่าตัด เพราะมันทำให้เล่นเสียงโหยหรือเสียงรัวตรงรอยต่อ ลา-ที-โด ไม่ได้ แต่เพลงญี่ปุ่นเดิมอาจไม่มีการเล่นเสียงพวกนี้ก็ได้) หรือถ้าเป็นภาพวาดพู่กัน ก็ดูจะใช้จำนวนเส้นน้อยที่สุด แต่ยังสื่อความหมายครบถ้วน คล้ายกับว่า ต้องรวบรวมสมาธิ วาดภาพไว้ในใจก่อน แล้วจึงตวัดพู่กันทีเดียวเสร็จ จะไม่มีการมาลังเลว่า เอ.. น่าจะเพิ่มตรงนั้นอีกนิด ตรงนี้อีกหน่อย ผมว่า คำพูดโยดาที่สอนลุคว่า "No. Try not. Do, or do not. There is no try." ก็คงบรรยายความเป็นญี่ปุ่นตรงนี้ได้ดี
ได้ลูกคิดญี่ปุ่นมา มาลองดีดดู เดิมผมดีดลูกคิดจีน ก็ไม่ใช้สองลูกบนล่างนั่นอยู่แล้ว เลยคิดว่า น่าจะดีดลูกคิดญี่ปุ่นได้ทันที แต่ผิดคาด พบว่าอุปสรรคอยู่ตรงที่ เวลาใช้สูตร สายตาผมกลับไปใช้จำนวนลูกที่เหลือของแถวล่าง ซึ่งในลูกคิดจีนมันรวมลูกที่ไม่ได้ใช้นั่นด้วย พอโดนตัดออก เลยเผลอใช้สูตรผิดบ่อยๆ อืมม์.. สรุปว่ายังต้องหัดให้คุ้นกับลูกคิดญี่ปุ่นต่อไป และทำให้รู้ตัวว่า สิ่งที่สมองถูกฝึกให้เชื่อมโยงไว้นั้น มันไม่อยู่ในรูปทั่วไป ต้องเชื่อมโยงใหม่กับลูกที่ดีดขึ้นไป ไม่ใช่ลูกที่เหลือ ถึงจะถูกต้อง
ข้อดีอีกอย่างของลูกคิดญี่ปุ่นคือ ลูกคิดมันกลึงขอบให้แหลม ทำให้จับไม่ค่อยพลาดเวลาดีด ถ้าเทียบกับลูกกลมๆ มนๆ ของลูกคิดจีน และลูกคิดจีน แถวมันจะสูง เวลาดีดต้องเลื่อนไกล ทำให้มีเสียงดังถ้าต้องดีดเร็ว (ซึ่งเสียงดังกับคนจีนก็ดูเป็นของคู่กันอยู่แล้ว) จะว่าไป ดีดเสียงต๊อกๆๆ มันก็ดูโผงผางดี แต่ดีดเงียบๆ แบบลูกคิดญี่ปุ่นผมชอบกว่าแฮะ แต่ข้อเสียของแถวที่สั้นก็คือ ที่ว่างมันมีน้อย ทำให้ดูยากระหว่างตำแหน่งที่ดีดขึ้นไปแล้วกับยังไม่ดีด
จบหนึ่งวัน กับของเล่นพักสมองของผม ไว้ว่างๆ มาหัดต่อ
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก