Theppitak's blog

My personal blog.

20 มีนาคม 2550

Debian News

วันนี้มีข่าว debian ให้เขียนถึงเยอะจัง ว่ากันทีละเรื่องละกัน

  • Debian Installer etch RC2 ออกแล้ว (ประกาศใน mailing list) นับว่าเข้าใกล้ความจริงไปอีกนิดกับ etch release ดูจำนวน Release Critical Bug รึ ก็ลดลงอย่างช้า ๆ (มีบั๊กถูกปิดขณะที่มีบั๊กพบใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด) ตอนที่เขียนอยู่นี้ เหลือ 66 รายการที่เกี่ยวข้องกับ etch release
  • Ian Murdock ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับ debian ว่ากำลังสูญเสียโอกาสสำคัญ เนื่องจากการไม่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริงของผู้นำ ผิดกับ Ubuntu ที่ทุกคนเชื่อในการตัดสินใจของผู้นำ ทั้งนี้ Ian เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยของ Debian เป็นผลเสียที่ทำให้ etch ออกล่าช้าในครั้งนี้ และว่าโครงการโอเพนซอร์สต้องมีความเป็นเผด็จการบ้าง งานถึงจะคืบหน้า ปิดท้ายด้วยการย้ำว่า การที่เขาบอกว่า Ubuntu ทำถูก ไม่ได้หมายความว่า Debian ทำผิด อย่างน้อย สิ่งที่ Debian ทำ ก็ได้บุกเบิกแนวทางการพัฒนา distro แบบเปิดจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นแบบอย่างให้ distro อื่นทำตามมาแล้ว เพียงแต่ว่า Debian อาจต้องปรับกระบวนการเพื่อจัดการกับขนาดชุมชนที่เติบโตมากมายขนาดนี้
  • อีกข่าวหนึ่ง ยังคงเป็น Ian Murdock ที่ได้เขียนใน blog ว่า ได้ย้ายไปทำงานกับ Sun แล้ว โดยต้องลาออกจาก Linux Foundation ด้วย โดย Ian บอกว่า Sun คือความประทับใจของเขาในช่วงแรกของการเรียนคอมพิวเตอร์ ก่อนจะมาทำงานกับลินุกซ์ และหลังจากที่ Sun เกิดภาพขององค์กร "ปิด" จนกลับมา "เปิด" ใหม่อีกครั้ง จึงเป็นโอกาสที่เขาจะเข้าไปร่วมปรับปรุง Solaris

คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลับมาคิดถึงความล่าช้าของ etch อีกครั้ง ครั้งนี้เกิดจากเหตุผลที่ต่างจาก sarge คือไม่ใช่เรื่องของ debian-installer ที่มีการรื้อเขียนใหม่ แต่เป็นเรื่องการเมือง เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ Anthony Town ซึ่งเป็น Debian Project Leader (DPL) คนปัจจุบัน ที่ตั้งโครงการ Dunc-Tank ที่สนับสนุนโดย Dunc-Bank เพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปเร่งกระบวนการ release etch ให้ทันตามกำหนด โดยให้คนมาช่วยกันทดสอบ Debian แบบโหด ๆ แล้วกระหน่ำ file RC bug แบบไม่ยั้ง แล้วก็จ่ายค่าจ้าง release manager สองคนให้ทำงานเต็มเวลาในการประสานงานแก้ RC bug ทั้งหลาย ทั้งจาก maintainer และ contributor ตามปกติ และจาก Bug Squad Party (thailatex ของเราก็เคยโดน RC bug จากกระบวนการ Dunc-Tank นี้ และก็ได้ release manager มือเซียนมาช่วยชี้ทางสว่างให้)

ฟังดูก็ไม่น่าจะมีอะไร และ DD (Debian Developer) หลายคนก็เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็มี DD กลุ่มใหญ่ที่ขาดแรงจูงใจในการทำงานลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง (เรื่องนี้กลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินในโครงการโอเพนซอร์ส เคยมี บทความที่ linux.com วิเคราะห์โมเดลของโครงการต่าง ๆ รวมถึง Dunc-Tank นี้ด้วย) แล้วก็เลยประท้วงและอภิปรายถอดถอน DPL ซึ่งแม้จะถอดถอนไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ประกาศประท้วงด้วยการหยุดทำงาน บางคนประกาศวางมือจาก Debian แล้วไปร่วมกับ Ubuntu แทน

เรื่องนี้คงเป็นปัญหาปกติสำหรับสังคมประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นของตน โดยเฉพาะใน Debian ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยเป็นหลักในการทำงาน แต่พอเกิดปัญหาการเมืองขึ้น ก็ทำให้งานต้องชะงักงัน ก็เป็นที่มาของปัญหาผู้นำขาดอำนาจที่ Ian พูดถึงนั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก คือการ release ตามกำหนด feature (ไม่ใช่ตามกำหนดเวลา) ของ Debian นั้น เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการ release ตามกำหนดเวลาของโครงการอื่นอย่าง GNOME และ Ubuntu

ผมเคย พูด หลายทีแล้ว ว่าอยากให้ Debian ไม่มีการ release เลยด้วยซ้ำ แต่หากคำนึงถึงผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่ต้องการ stable release ก็คงต้อง release ต่อไป แต่ถ้าสังเกตแนวโน้มของ Debian ที่เริ่มสนับสนุน testing ให้ใช้งานได้เสมือน stable หรือทำ stable ให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังที่ Joey Hess สรุปไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง security update ใน testing หรือการเกิด backports และ volatile สำหรับ stable ก็ดูจะเป็นแนวทางที่จะสร้าง debian ที่สดใหม่อยู่ตลอด จนน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่จะลบสถานะ released/unreleased แบบ boolean ออกเสีย แล้วสร้าง debian testing ที่ใช้งานภาคสนามได้ตลอดเวลา ผมชอบแนวคิดนี้นะ

อีกทางหนึ่ง คือเปลี่ยนนโยบายการ release มา release ตามกำหนดเวลา วันนี้ไปเห็น blog ของ Murray Cumming จาก Planet GNOME เขียนถึงวิทยานิพนธ์ของ Martin Michlmayr อดีต DPL เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์แวร์เสรีในแง่การจัดการ release ซึ่งผมยังไม่ได้อ่านละเอียด แต่ตามที่ Murray สรุปให้ฟัง ดูจะชี้ให้เห็นข้อดีของการ release ตามกำหนดเวลา ซึ่งต้องติดตาม blog ของ Martin ต่อไป ว่าจะสรุปออกมาแนวไหน และจะมีการเสนอใน Debian หรือไม่

โดยส่วนตัว คิดว่าถ้าจะให้ Debian ออกตามกำหนดเวลา ก็คงไม่ใช่ทุก 6 เดือนแน่ ๆ จากปริมาณงานที่มากมายมหาศาลขนาดนั้น แต่ละ release คงทำอะไรได้ไม่เท่าไร และการ release ตามกำหนด ถึงจะมีการตัด feature ที่ไม่พร้อมเพื่อไม่ให้คนอื่นต้องหยุดรอ แต่จำนวนแพกเกจและ architecture ที่มากมาย ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กินเวลา freeze นาน คิดว่าการยืดระยะเวลา release ออกไป แล้วทำ testing ให้ใช้งานภาคสนามได้ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า ในแง่ความต่อเนื่องของ pipeline ของงานต่าง ๆ ที่ไม่ต้องสะดุดกึกทุกครั้งที่ release และผู้ใช้ก็ได้ใช้ซอฟต์แวร์สดใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย

ป้ายกำกับ:

3 ความเห็น:

  • 20 มีนาคม 2550 เวลา 16:31 , Blogger Revolution Log Life Another Dimension แถลง…

    ผมก็คิดว่าน่าจะไม่มีการ release ต่อไปอีก หรือยึด sarge เป็นตัวสุดท้าย แล้วทำการ update package ใหม่ๆต่อ
    ส่วนตัวผมเองปัญหานึงในการใช้งาน debian คือการไม่มี package ใหม่ๆให้ใช้ ต้องไปเอามาจาก testing ซึ่งมันติด dependency มากมาย

    แต่ถ้าไม่มีการ release แล้วเนี่ย สมมุติว่า libc มีการ update แล้ว package อื่นๆๆ จะมีการติด dependency ด้วยหรือเปล่าเนี่ยครับ

    ถงึใช้ ubuntu แต่ ผมก็รัก debian นะ

     
  • 20 มีนาคม 2550 เวลา 17:36 , Blogger veer แถลง…

    ผมเลิกบ่นเรื่องออกช้าไปแล้ว ตอนนี้ยังใช้ Sarge อยู่เลย
    ให้เครื่องเดิมพังก่อน แล้วซื้อเครื่องใหม่ Debian ก็ออกใหม่พอดีเป็นอันใช้ได้

     
  • 21 มีนาคม 2550 เวลา 13:35 , Blogger Sakura แถลง…

    Debian คือ love at first sight ของผมครับ แต่ตั้งแต่เปลี่ยนจาก PC มาใช้ notebook ผมยังไม่เคยติดตั้ง Debian ได้สำเร็จเลย

    ถ้าติดตั้งด้วย linux26 มันจะหา partition ไม่เจอครับ แต่ถ้าลงปกติเสร็จ เข้าไปลบ 2.4 แล้ว install 2.6 พอบูตอีกที่มันจะไปค้างที่ initramfs ลองแก้หลายวิธีแล้วครับก็ยังไ่ม่เวิร์ค ตอนนี้เลยยอมแพ้ชั่วคราว หนีไปใช้ Ubuntu ก่อนครับ :-)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem