Theppitak's blog

My personal blog.

01 มกราคม 2559

Fonts-TLWG 0.6.2

Fonts-TLWG 0.6.2 ได้ออกไปแล้ว หลังจากใช้เวลาพัฒนาจากรุ่น 0.6.1 อยู่เกือบปีครึ่ง ความเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ของรุ่นนี้คือการรองรับการเขียนภาษามลายูปาตานีด้วยอักษรไทยในฟอนต์ต่าง ๆ แต่ก็มีรายการอื่น ๆ อีกพอประมาณ

สรุปการเปลี่ยนแปลงในรุ่นนี้คือ

  • เพิ่ม Preferred Family/Subfamily (Name ID 16, 17) ในทุกฟอนต์ เพื่อให้ Windows สามารถรองรับ style ได้มากกว่า 4 style ซึ่งจำเป็นสำหรับฟอนต์ Kinnari และ Norasi ซึ่งมีทั้ง Oblique และ Italic และฟอนต์ Umpush ที่มี Light เพิ่มเติมด้วย (ตามคำแนะนำของคุณ Martin Hosken) นอกจากนี้ บางโปรแกรมบนลินุกซ์อย่าง GNOME Software ยังใช้ข้อมูลนี้ในการจัดกลุ่มแพกเกจฟอนต์ให้เป็นกลุ่มเดียวกันด้วย (ตาม รายงานของคุณ Richard Hughes สำหรับฟอนต์ Arundina)
  • กำหนด weight ของฟอนต์น้ำหนักปกติเป็น Regular จากเดิมที่เป็น Regular บ้าง Medium บ้าง Book บ้าง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ Name ID 2 เหมือนกันทั้งหมด
  • validate ทุกฟอนต์ พร้อมแก้ปัญหาที่ตรวจพบ ตัวอย่างของปัญหาที่พบก็เช่น จุดต่อโค้งมีความชันเกือบอยู่ในแนวดิ่งหรือราบแต่ไม่ดิ่งหรือราบพอดี (ก็แก้ให้ดิ่งหรือราบพอดี), จุดมีพิกัดไม่เป็นจำนวนเต็ม (ก็ปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม), Blue zone แคบหรือกว้างเกินไป ฯลฯ
  • เซ็ต OS/2 Version เป็น 4 ทุกฟอนต์ เดิมนั้นกำหนดเป็นค่า Auto ซึ่ง Fontforge จะให้ค่าเป็น Version 1 ตาราง OS/2 & Windows Metrics เป็นตาราง metrics ของฟอนต์ TrueType ซึ่งไมโครซอฟท์ได้พัฒนาเพิ่มจาก spec ของ Apple เพื่อใช้กับ OS/2 และ Windows (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งมีการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ โดยรุ่นล่าสุดคือ version 5 แต่รุ่นที่ Fontforge รองรับสูงสุดคือ version 4 จึงกำหนดเลขรุ่นเพื่อให้ฟอนต์มีข้อมูลตาม spec รุ่นใหม่ ๆ ตามคำแนะนำของคุณ Martin Hosken
  • รองรับการเขียนภาษามลายูปาตานีด้วยอักษรไทย ดังที่เคย บันทึกรายละเอียดไว้ ซึ่งงานส่วนนี้ถือว่ากินเวลาพัฒนานานที่สุด
  • รองรับการสร้าง web font แบบ WOFF ใน configure script เพิ่มเติมจาก Type 1, TTF, OTF
  • เพิ่มบริการ on-line web font เพื่อให้เว็บต่าง ๆ สามารถใช้ฟอนต์ชุด TLWG ในเว็บของตนเองได้ โดยได้เตรียม CSS stylesheet ไว้ ดังรายละเอียดในหน้า TLWG Web Fonts

เนื่องจากรุ่นนี้ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของ LaTeX มากนัก จึงไม่อัปเดตรุ่นใน CTAN

รุ่นนี้ผมตัดสินใจเริ่มผลักดันการใช้ฟอนต์รูปแบบต่าง ๆ จึงได้เตรียม generated fonts ในรูป OTF และ WOFF เพิ่มเติมจากแบบ TTF ที่เคยทำตามปกติ และมีแผนที่จะเพิ่มรูปแบบ OTF (หรืออาจจะ WOFF ด้วย) ใน Debian ให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ด้วยเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ libfreetype6 ใน Debian ได้ enable CFF rasterizer ของ Adobe ใน FreeType อีกครั้งใน Stretch มาระยะหนึ่งแล้ว (Debian #795653) ซึ่งทำให้คุณภาพการ render ฟอนต์ OTF ดีขึ้นมาก (rasterizer ตัวนี้ควรจะได้ใช้กันตั้งแต่รุ่น Jessie แต่เพราะผู้ใช้บางส่วนไม่ชอบ จึงถูก disable ไป [Debian #730742] จนกระทั่งเริ่มรอบพัฒนา Stretch จึง enable ใหม่อีกครั้ง)

ป้ายกำกับ: ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem