Theppitak's blog

My personal blog.

08 กุมภาพันธ์ 2558

Feb 2015 Calendar

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้รับข้อความจากเพื่อน ซึ่งส่งต่อมาจากคนอื่นอีกที ความว่า:

ปีนี้เดือนกุมภาพันธ์ มี 4 อาทิตย์, 4 จันทร์, 4 อังคาร, 4 พุธ, 4 พฤหัส, 4 ศุกร์ และ 4 เสาร์ ซึ่งจะเกิดได้ทุก 823 ปี ชาวจีนถือเป็นปีถุงเงิน ถ้าส่งให้เพื่อนหรือ กลุ่มเพื่อน อย่างน้อย 5 คน จะมีเงินไหลเข้ามาใน 4 วัน ส่งภายใน 11 นาที หลังอ่านจบ

เพื่อนคงส่งมาขำ ๆ แต่ความ geek ในตัวผมไม่เข้าใครออกใคร เลยตอบเพื่อนไปว่า ความจริงแล้วมันเกิดได้ทุกปี ยกเว้นปีที่ ค.ศ. หารด้วย 400 ลงตัว หรือไม่ก็หารด้วย 4 ลงตัว แต่หารด้วย 100 ไม่ลงตัว ผมซีเรียสนะเฟ้ย! ;-P

ก็ปีไหนเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน ก็ปีนั้นแหละ กุมภาพันธ์จะมี 4 อาทิตย์, 4 จันทร์ ฯลฯ 4 เสาร์ (4*7 = 28) ซึ่งมันก็แทบทุกปี

แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิทินเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ก็ยังมีอะไรพิเศษที่น่าสนใจ:

$ cal 2 2015
  กุมภาพันธ์ 2015     
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.  
 1  2  3  4  5  6  7  
 8  9 10 11 12 13 14  
15 16 17 18 19 20 21  
22 23 24 25 26 27 28  


คือเรียงสี่สัปดาห์ลงตัวสวยงาม ไม่ขาดไม่เกิน จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ปฏิทินอย่างนี้จะเกิดได้ในปีไหนบ้าง?

ตัวอย่างของปีที่ว่าก็เช่น:

$ cal 2 2009
  กุมภาพันธ์ 2009
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 1  2  3  4  5  6  7
 8  9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28


$ cal 2 2026
  กุมภาพันธ์ 2026
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 1  2  3  4  5  6  7
 8  9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28


$ cal 2 2037
  กุมภาพันธ์ 2037
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 1  2  3  4  5  6  7
 8  9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28


$ cal 2 2043
  กุมภาพันธ์ 2043
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 1  2  3  4  5  6  7
 8  9 10 11 12 13 14
15 16 17 18 19 20 21
22 23 24 25 26 27 28


แล้วจะมีปีไหนอีกนะ?

หมายเหตุ: ยังไงรอบก็ยังไม่ถึง 823 ปีอย่างที่เขาว่าอยู่ดี ก็ยังเดาไม่ออกว่าปีถุงเงิน เขาเอามาจากตำราไหน :-P

ข้อสังเกต:

  • ปฏิทินโหราศาสตร์จีนเป็นปฏิทินจันทรคติ
  • ข้อความเรื่องปีถุงเงินนี้ มีแพร่ในอินเทอร์เน็ตมาหลายรอบแล้ว

ขอบคุณเพื่อนที่ส่งข้อความนี้มา ทำให้ผมได้อะไรคิดเล่นสนุก ๆ ผมทิ้งไว้ให้ผู้อ่านลองคิดกันดูนะครับ

ป้ายกำกับ: ,

6 ความเห็น:

  • 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 02:16 , Blogger nz แถลง…

    for year in {1900..2100}; do [[ 6 -eq $(cal 2 $year | sed '/^[ \t]*$/d' | wc -l) ]] && echo $year; done | gnuplot -p -e 'plot "< cat -"'

    ดูแล้วเป็นชุดละ 3 จุดที่แต่ละจุดห่างกัน 11 ปี ส่วนความห่างระหว่างชุดก็ 6 ปีนะฮะ

    แต่ถ้าหลุดหลักร้อยปีไปเริ่มขี้เกียจคิดละ 555+

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10:19 , Blogger Thep แถลง…

    รวดเร็วมากเลยครับ :-)

    บอกว่าขี้เกียจคิด แสดงว่าคำตอบไม่ได้มาจากสคริปต์ข้างบน แต่มาจากการคำนวณด้วยมือ

    งั้นก็ขอคำตอบเป็นคำอธิบายหลักการคำนวณด้วยนะครับ

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 12:36 , Blogger Hisoft Manager แถลง…

    ขอเล่นด้วยคนครับ

    ปีที่จะเกิดแบบนั้น คือปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน และมีระยะเวลาจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของครั้งที่แล้วถึงครั้งถัดไปหารด้วย 7 ลงตัวพอดี (ครบสัปดาห์) ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกรณีครับ (ถ้าคิดตามเงื่อนไขว่าปี 366 วันเกิดกับปีที่ ค.ศ. หารด้วย 400 ลงตัว หรือไม่ก็หารด้วย 4 ลงตัว แต่หารด้วย 100 ไม่ลงตัวนะครับ ผมไม่แน่ใจว่ามันมีเงื่อนไขอื่นอีกไหม)

    กรณีแรกคือ 313 สัปดาห์ เกิดจากปี 365 วัน 5 ปี กับปี 366 วัน 1 ปี ซึ่งกรณีนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อปี 366 วันอยู่ถัดจากเหตุการณ์ที่ต้องการไป 3 ปีพอดี (ตามด้านล่าง -, -- คือ 365 วัน oo คือ 366 วันครับ โดยเลขปีให้ +2000 ไปด้วย และเกิดที่ปี 2009 และ 2015)

    9 10 11 12 13 14 15
    - -- -- oo -- -- --

    ถ้าปี 366 วันไม่อยู่ตรงตำแหน่งนี้แล้ว จะทำให้กลายเป็นว่ามีปี 366 วันอยู่สองปี หรือไปทับปีที่ 6 พอดี ทำให้ปีที่ 6 มีเดือนกุมภาพันธ์ 29 วัน แม้วันที่ 1 จะอยู่ตรงวันอาทิตย์แต่ก็ไม่ได้ปฏิทินตามที่เราต้องการไป

    กรณีที่สอง คือกรณีที่ห่างกัน 11 ปี หรือคิดเป็น 574 สัปดาห์พอดี โดยเกิดที่ปี 2015 และ 2026

    15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26
    -- oo -- -- -- oo -- -- -- oo -- --

    กรณีสุดท้าย อันนี้คือเจอปีที่หารด้วย 400 ไม่ลงตัว แต่หารด้วย 4 และ 100 ลงตัวมาคั่นกลาง ผมยกตัวอย่างของปี 1800 ครับ กรณีนี้ทำให้เงื่อนไขคล้ายกรณีแรก เจอปี 365 วัน 5 ปี 366 วัน 1 ปี คือมี 313 สัปดาห์พอดีเป๊ะ แต่เจอได้ง่ายขึ้นเพราะปี 366 วันอยู่ได้หลายตำแหน่ง ไม่ต้องอยู่ตรงกลางแบบกรณีแรก
    ผมยกตัวอย่างปี 1800 ที่มี 365 วันเพราะหาร 400 ไม่ลงตัว แต่หาร 4 และ 100 ลงตัวนะครับ ในที่นี้เหตุการณ์ที่เราต้องการเกิดขึ้นที่ปี 1789, 1795, 1801 และ 1807 ครับ ห่างกันหกปีหมดเลยสี่ครั้งรวด เพราะปี 1789 กับ 1795 ตรงกับกรณีแรก ปี 1801 ตรงกับกรณีนี้ แล้วดันให้ปี 1807 ไปตรงกับกรณีแรกอีกครั้ง

    1789 1790 1791 1792 1793 1794 1795 1796 1797 1798 1799 1800 1801 1802 1803 1804 1805 1806 1807
    ---- ---- ---- oooo ---- ---- ---- oooo ---- ---- ---- ---- ---- ---- ---- oooo ---- ---- ----

    กรณีสุดท้ายนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าปีก่อนหน้าไม่ตรงกับกรณีแรกจะเป็นยังไงนะครับ ขี้เกียจหาแล้ว 555

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15:09 , Blogger nz แถลง…

    ไม่ได้คำนวณมือเลยครับ แต่สคริปด้านบนมัน plot graph ออกมาให้ด้วย พอดูผ่านๆ แล้วเห็นเป็นกลุ่มที่ระยะห่างเท่ากันกลุ่มละ 3 จุดครับ พอหมดกลุ่มนั้นๆ ก็เปลี่ยนระยะห่างไปเป็น pattern ซ้ำๆ กันอีก เลยสรุปเอาแบบสั้นๆ อะครับ

     
  • 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 17:53 , Blogger Thep แถลง…

    ปรบมือให้คุณ Hisoft Manager ครับ คิดละเอียดครอบคลุมจริง ๆ :-)

     
  • 12 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15:41 , Blogger Thep แถลง…

    คำตอบของผมครับ:
    http://thep.blogspot.com/2015/02/pretty-feb-calendar-solution.html

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem