Thai Ayudhaya Tones
จากที่ได้เขียน blog เรื่อง วิทยาศาสตร์ของไตรยางศ์ ว่าด้วยสำเนียงบางกอกไปแล้ว ก็อยากจะเขียนถึงไตรยางศ์อีกแบบที่อ่านพบในหนังสือ จินดามณี อันเป็นตำราภาษาไทยสมัยอยุธยา ผมพยายามแกะคำอธิบายวิธีผันวรรณยุกต์ซึ่งดูจะต่างจากสำเนียงบางกอก โดยในจินดามณีเล่ม ๑ ของพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้อธิบายไว้ดังนี้ (รูปประกอบผมวาดเสียใหม่ตามเค้าเดิมในหนังสือ และขอคงตัวสะกดแบบโบราณตามต้นฉบับไว้)
อักษรเสียงสูง ๑๑ แม่นั้น คำต้นให้อ่านสูงแล้วลดลงไปตามที่ไม้เอกไม้โทนั้น
อักษรกลาง ๙ แม่นั้นคือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ นี้ คำต้นให้อ่านเป็นคำกลางแล้วจึงอ่านขึ้นไปตามไม้เอก แล้วลงไปตามไม้โท ด่งงรูปจั่วนั้น
อักษรเสียงกลางก้องต่ำ ๒๔ ตัวนั้น คำต้นให้อ่านเป็นกลางแล้วอ่านทุ้มลงแล้วอ่านสูงขึ้นไปตามไม้เอกไม้โท
คำอธิบายนี้ไม่ได้เอ่ยถึงไม้ตรีไม้จัตวา แต่จะเห็นวิธีผันที่ต่างจากสำเนียงบางกอก
ยังมีจินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งอธิบายวิธีผันเสียงคล้ายคลึงกัน แต่ฉบับนี้อธิบายไม้ตรีไม้จัตวาด้วย
ก่อนอื่น มีวิธีผันเสียงคำเป็นกับคำตายเป็นอารัมภบท:
อักษร ๔๔ ตววนี้ให้อ่านแตสองเสียงก่อน แลอักษร ๑๑ ตวว คือ ขฃฉฐถผฝศสษห นั้นให้อ่านเสียงสูงเสมอกันไปเหมือน ศษส นั้น อักษร ๓๓ ตววเหลือให้อ่านเสียงกลางเสมอกันไปยดงง จญ นั้น ๒๔ อักษรอ่านลงคอนั้น ๕ อักษร คือ ฆฌฑธ นั้นอ่านลงคอแตในแม ก ข กับเขียนหนังสือไทยเปนสวตนนต์ จึงอ่านลงคออย่างหนังสือฃอม เมื่อแจกตามแม่ทงงปวงไปก็ดี เปนเนื้อความตามภาษาโลกยก็ดี อย่าอ่านลงคอเลย ผู้จ่เขียนนั้นครั้นบาฬี ฃอมเปนธนิดก็เขียนอักษรไทยเปนธนิด ครั้นบาฬี ฃอมเปนสะถินล เขียนอักษรไทยเปนสถินลดวยเทิศ อักษรเสียงกลาง ๙ ตววนั้นคือ กจฎฏดตบปอ นี้ตววเบามิก้อง เมื่อแจกให้อ่านเบาแผวไปยที ๔ ตัวนี้คือ กิกึกุกะ นี้เปนต้น อิอึอุอะ ฯลฯ อักษรเสียงสูง ๑๑ ตววนั้นตววหนักบมีก้อง เมื่อแจกให้อ่านสูงแหลมไปที ๔ ตววคึอ ขิขึขุขะ นี้เปน หิหึหุหะ นั้นเปนปลายจำไว้มั่น ฯ ฯ อักษรเสียงต่ำ ๒๔ ตววอันเหลือนั้น ตววก้องเมื่อแจกไปให้อ่านเบาพาวไปในที่ ๔ ตัว คือ คิคึคุคะ เปนต้นนี้ อิอึอุอะ นั้นเปนปลายจำไว้จงมั่น ฯ
ก็ดูเหมือนจะคล้ายสำเนียงบางกอกอยู่ ยกเว้นอักษรสูงคำตาย จะผันแหลมสูง (คล้ายสำเนียงอีสาน?)
จากนั้นก็ได้พาแจกแจงอักษรสูง-ต่ำ ๙ คู่ บวกกับอักษร ห นำต่ำเดี่ยวอีก ๑๐ คู่ ว่าเป็นเสียงคู่กันอย่างไร แล้วก็มาถึงคำอธิบายวิธีผันเสียงอักษรกลางทั้ง ๕ เสียง โดยเขียนเทียบคำกับเสียงอ่าน ตำราเขียนแยกบรรทัดแล้วให้โยงหากัน ผมขอเรียงไว้ในบรรทัดเดียวกันโดยใส่วงเล็บไว้ตามตำแหน่ง เพื่อความง่ายในการพิมพ์:
(ก)กไผ่ป่า (ก่)กอีดส้างวัด ลาวว่าสังก้(ก้) อ่านแต่เสียงต่ำย่างธอ(ก๊) เสียงสูงอย่างสอ(ก๋)
เนื่องจากไม่รู้วิธีออกเสียง จึงได้ข้อสังเกตเพียงว่า เสียงจัตวานั้นคงเหมือนจัตวาบางกอก แต่รูปตรีนั้นเป็นเสียงเดียวกับอักษรต่ำ
แล้วก็มาถึงแผนภูมิที่น่าสนใจ ว่าด้วยการเขียนเสียงขึ้นเสียงลง ดังนี้:
แต่งให้มีไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา แต่อักษรเสียงไม้เอก กลางตววเบามีก้อง ๙ ตววเหล่าเดียวนั้น เขียนเรียบกันตามบรรทัดหย่างหนึ่ง เขียนตามเสียงขึ้นเสียงลงตามที่นั้น หย่างหนึ่ง รูปดงงนี้มีคนสงไสมาก ด้วยว่าเดิมนั้นอักษรทงง ๓ เหล่ามีแต่ไม้เอกโทเปนเหล่าแล ๓ คำ
๓ คำอักแลอักษรเสียงกลางตัวเบามีก้อง ๙ ตววเหล่านี้เปน ๕ คำเหนแปลกอยู่ จึงเขียน อักษรสูง อักษรต่ำเหล่านี้ไว้ให้แจ้ง ด้วยเปนรูปจัวเหมือนกันเปน ๕ คำได้เหมือนกันแล เขียนเรียบตามบันทัดหย่างหนึ่ง เขียนตามเสียงขึ้นเสียงลง ตามทีนันหย่างหนึ่ง รูปดงงนี้แล
แกไม้ตรีไม้จัตวา แลอักษรคู่จบแตเท่านี้แล ฯ
จากนั้น ตำราก็ได้สาธยายต่อไป เกี่ยวกับการที่อักษรกลางสามารถผันได้ครบทุกเสียงเหมือนคู่อักษรสูง-ต่ำ เมื่อมีไม้ตรีไม้จัตวาช่วย โดยเปรียบเหมือนบุรุษสองกลุ่มวิวาทกัน อักษรกลางโดนรุมแต่ฉลาดกว่า เลยสู้กันได้ จากนั้นก็ได้อธิบายวิธีผันเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเนื้อหาก็คล้ายกับจินดามณีสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั่นเอง
คงพอเห็นภาพกระมังครับ ว่าสำเนียงชาววังอยุธยาสมัยนั้นต่างจากสำเนียงเหน่อ ๆ ของบางกอก และไตรยางศ์ก็บัญญัติขึ้นในสมัยอยุธยาโดยอ้างอิงสำเนียงอยุธยา จนกระทั่งศูนย์กลางอำนาจย้ายมาที่บางกอก สำเนียงถิ่นบางกอกจึงกลายเป็นสำเนียงมาตรฐานแทนที่ โดยที่ยังคงใช้ไตรยางศ์อยุธยาอธิบายอยู่เช่นเดิม
สุดท้ายแล้ว ผมก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าสำเนียงไทยสมัยอยุธยาผันอย่างไร แต่หากสังเกตแผนภูมิของจินดามณีฉบับสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแล้ว จะเห็นว่าอักษรสูงและอักษรต่ำผันรูปสามัญ-เอก-โทไล่ตามลำดับจากสูงมาต่ำ ไม่ใช่ขึ้น ๆ ลง ๆ แบบสำเนียงบางกอก และคนที่รู้สำเนียงถิ่นอีสาน อาจประหลาดใจที่แผนภูมินี้คล้ายกับการผันวรรณยุกต์ของอีสานมากทีเดียว ไว้มีโอกาสจะเขียนถึงไตรยางศ์อีสานต่อไปครับ
ป้ายกำกับ: language