Theppitak's blog

My personal blog.

26 พฤษภาคม 2555

The Science of Thai Tones

พบว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการใช้ภาษาไทยของคนไทยคือการผันวรรณยุกต์ จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมอ่านพบในหนังสือพิมพ์ว่าแม้แต่ครูก็ทำคะแนนภาษาไทยได้ไม่ผ่านเกณฑ์ สาเหตุเพราะหลักสูตรสมัยใหม่ให้เรียนแบบจำรูปเขียน ไม่ได้พาแจกลูกพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์กันแล้ว ทำให้เด็กผันเสียงได้เฉพาะคำที่เคยเจอ ไม่สามารถประยุกต์กับคำที่ไม่เคยเจอได้ หรือแม้แต่คำที่เคยเจอก็ยังเกิดความสับสน ไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ ก็เลยใช้ความรู้สึกล้วน ๆ (เช่น กรณีคำว่า คะ และ ค่ะ) นับว่าน่าเป็นห่วงมาก

แม้แต่เวลาคุยกับคนวัยเดียวกัน ก็มีการถามถึง วิทยาศาสตร์ของไตรยางศ์ ว่ามีไหม เท่าที่ผมเคยเขียนไว้นานแล้วเกี่ยวกับ คุณสมบัติของอักษรสามหมู่ อาจช่วยให้หลักการเบื้องต้นได้บ้าง ใน blog นี้ผมก็เลยจะลงรายละเอียดเรื่องการผันวรรณยุกต์ ลองดูซิว่ามันจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์สักแค่ไหน

หลักการโดยทั่วไปคือ อักษรกลางเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาได้ ส่วนอักษรสูงและอักษรต่ำใช้ได้เพียงไม้เอกและไม้โท (ยกเว้นบางกรณีที่ตำราหลักภาษาไทยกล่าวถึง แต่ไม่เคยพบในชีวิตจริง ดังจะกล่าวต่อไป) ทั้งนี้เพราะอักษรสูงและต่ำที่คู่กันสามารถผันประกอบกันเพื่อแทนเสียงจนครบทั้ง ๕ เสียงได้โดยไม่ต้องใช้ไม้ตรีไม้จัตวาอยู่แล้ว และตามนัยประวัติแล้ว ไม้ตรีและไม้จัตวาถูกประดิษฐ์ขึ้นในภายหลังเพื่อใช้กำกับเสียงอักษรกลางที่ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะเมื่อจะเขียนเสียงคำยืมจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน

หมายเหตุรูปประกอบ:

  • สีเขียวแทนอักษรกลาง สีแดงแทนอักษรสูง สีน้ำเงินแทนอักษรต่ำ
  • รูปสี่เหลี่ยมแทนเสียงที่ออกเสียงวรรณยุกต์เหมือนรูป รูปแคปซูลรีแทนเสียงที่ออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกับรูป
  • คำที่อยู่ในวงเล็บคือคำสมมุติเพื่อประกอบการอธิบาย ส่วนคำที่ไม่ใส่วงเล็บคือคำที่มีอยู่จริง

คำเป็น

การผันวรรณยุกต์คำเป็น

เริ่มจากกรณีที่ตรงไปตรงมาที่สุดก่อน

  • อักษรกลาง ผันเสียงเหมือนรูปวรรณยุกต์ทุกประการ และครบทั้ง ๕ เสียง
  • อักษรสูง ผันแทบจะเหมือนอักษรกลาง ยกเว้นรูปสามัญที่มีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา
  • อักษรต่ำ รูปสามัญผันเหมือนอักษรกลาง แต่รูปวรรณยุกต์เอกและโทออกเสียงสูงขึ้นไปหนึ่งขั้น (ด้วยความเป็นพยัญชนะโฆษะ) คือรูปเอกออกเสียงเป็นโท รูปโทออกเสียงเป็นตรี
  • อักษรสูงและอักษรต่ำที่คู่กัน (หรืออักษร ห นำ ในกรณีพยัญชนะนาสิก) เมื่อผันประกอบกันจึงผันได้ครบทั้ง ๕ เสียง โดยเสียงโทสามารถมีรูปเขียนได้สองรูป

อักษรกลางคำตาย

การผันวรรณยุกต์อักษรกลางคำตาย

เมื่อเทียบกับคำเป็นแล้ว อักษรกลางคำตายแทบจะผันเหมือนกัน ยกเว้นบางรูป

  • รูปสามัญ ออกเสียงเป็นเสียงเอกทั้งสระเสียงยาวและสั้น
  • ไม่มีรูปเอก เพราะออกเสียงได้จากรูปสามัญอยู่แล้ว
  • ไม่มีเสียงสามัญสำหรับคำตาย
  • รูปวรรณยุกต์ที่เหลือ ออกเสียงเหมือนรูป

อักษรสูงและอักษรต่ำคำตาย

การผันวรรณยุกต์อักษรสูงและอักษรต่ำคำตาย

ทำนองเดียวกับอักษรกลาง อักษรสูงไม่มีอะไรซับซ้อนจากคำเป็นมากนัก

  • รูปสามัญ ออกเสียงเป็นเสียงเอกทั้งสระเสียงยาวและสั้น
  • ไม่มีรูปเอก เพราะออกเสียงได้จากรูปสามัญอยู่แล้ว
  • ไม่มีเสียงสามัญสำหรับคำตาย
  • รูปวรรณยุกต์ที่เหลือ ออกเสียงเหมือนรูป

อักษรต่ำ (ซึ่งเป็นเสียงโฆษะ) ค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อย

  • รูปสามัญ สระเสียงยาวออกเสียงโท สระเสียงสั้นออกเสียงตรี
  • จากนั้น เมื่อเทียบเสียงกับคำเป็น เสียงวรรณยุกต์ที่แทนด้วยรูปสามัญไปแล้ว จะไม่มีรูปวรรณยุกต์นั้นสะกดอีก กล่าวคือ ไม่มีรูปวรรณยุกต์เอก (เสียงโท) สำหรับสระเสียงยาว และไม่มีรูปวรรณยุกต์โท (เสียงตรี) สำหรับสระเสียงสั้น
  • เสียงที่เหลือ ใช้เหมือนคำเป็น คือรูปโทออกเสียงตรีสำหรับสระเสียงยาว และรูปเอกออกเสียงโทสำหรับสระเสียงสั้น
  • มีรูปพิเศษเพิ่มเติมที่หนังสือหลักภาษาไทยกล่าวถึง แต่ไม่พบในชีวิตจริง คือไม้จัตวาสำหรับทั้งสระเสียงยาวและเสียงสั้น โดยออกเป็นเสียงจัตวาเหมือนรูป เข้าใจว่าเป็นการเติมเสียงเพื่อให้คู่อักษรสูง-ต่ำสามารถผันประกอบกันได้ครบเสียงเหมือนอักษรกลาง

นี่ก็คือระเบียบของไตรยางศ์เท่าที่ผมสามารถอธิบายได้ละครับ คิดว่าเป็นระเบียบพอไหม? อย่างน้อยก็น่าจะง่ายกว่าระเบียบการเรียงอิเล็กตรอนในอะตอมล่ะน่า.. หากท่านใดสามารถอธิบายได้ง่ายกว่านี้ก็โปรดชี้แนะด้วย

เดี๋ยวถ้ามีเวลาว่าจะเขียนต่อเรื่องไตรยางศ์ที่ไม่ใช่สำเนียงบางกอก น่าสนุกไม่แพ้กันครับ :)

ป้ายกำกับ:

Thanks

ว่างเว้นจากการเขียน blog ไปเสียนาน ขอขอบคุณย้อนหลัง สำหรับผู้ที่ได้หย่อนสตางค์ลงหมวกเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาของผม นับจาก บันทึกครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภา

ขอบคุณ บุคคลนิรนาม (จากบัญชี KTB) ที่ได้โอนเงินสนับสนุนเข้าบัญชีของผมเป็นระยะทั้งหมดห้าครั้ง ขอขอบคุณ คุณ kenggg ที่ได้หย่อนสตางค์มาถึงสามครั้ง ขอบคุณ คุณวิทยา สำหรับการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง แล้วก็ พี่โดม ที่ได้หย่อนสตางค์พร้อมช่วยเชิญชวนให้ร่วมกันสนับสนุนผมอีกครั้ง

ขอให้ทุกท่าน Happy Hacking กันนะคร้าบ

ช่วงนี้ผมทำนู่นทำนี่หลายด้าน งานอาจจะเดินช้าหน่อย แถมกลับจาก OSSFest ยังเป็นไข้อีก ก็จะยังพยายามเจียดเวลามาทำงานซอฟต์แวร์เสรีอยู่ครับ ใครเข้าเวิร์กช็อป TLWG ที่ OSSFest คงพอเห็นภาพ ว่า hyphenation ของ ThaiLaTeX นั้นต้องใช้เวลาเอาเรื่องเหมือนกัน

ป้ายกำกับ: ,

hacker emblem