ไม่ได้ blog เสียนาน เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตรียมงาน Thailand Mini-DebCamp 2010 พร้อม ๆ กับตรวจคำแปล GNOME แข่งกับ 2.29.91 tarballs due
ในส่วนของงาน Mini-DebCamp ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ต้องขอขอบคุณ อ.กิตติ์ ที่รับเป็นแม่งานในครั้งนี้ ทำให้งานลื่นไหลไปได้มาก ในส่วนของผมนั้น รับหน้าที่ติดต่อประสานงานกับผู้ร่วมงาน โดยงานส่วนใหญ่จะเป็นการส่งอีเมลเชิญชวน DD และนักพัฒนาในประเทศใกล้เคียง (ซึ่งออกจะล้มเหลว เพราะเชิญมาได้ไม่มากเท่าที่คาดหวังไว้ แต่คนที่มาก็ได้ช่วยกันทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ได้พอสมควร) รวมทั้งจัดตารางเวลาของงาน แต่งานส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสถานที่ อาหาร ขนม-เครื่องดื่ม จองที่พัก รถรับ-ส่ง การเบิกจ่ายค่าเดินทาง ฯลฯ ล้วนเป็นภาระของ อ.กิตติ์ ทั้งสิ้น ขอเสียงปรบมือให้ด้วยคร้าบ..
และที่ลืมไม่ได้ คือความช่วยเหลือจากทีมเนคเทค ซึ่งได้ช่วยดูแลการเดินทางของชาวต่างประเทศระหว่างกรุงเทพฯ กับขอนแก่น ทั้งขามาและขากลับ
ขอบคุณศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รับเป็นเจ้าภาพและสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ขอบคุณผู้สนับสนุนงบประมาณอันได้แก่เนคเทคและ Esan Science Park มา ณ ที่นี้ เราคงจัดงานนี้ไม่ได้ถ้าขาดความช่วยเหลือจากพวกท่าน
งาน Mini-DebCamp 2010 ก็จบลงแล้วเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) เป็นงานที่เหนื่อยแต่อิ่มใจที่ได้ทำ แล้วก็เสียดายในหลาย ๆ จุดที่คิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้
พูดถึงเรื่องที่เสียดายก่อนละกัน.. งานนี้แม้จะมีการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นเวลานาน โดยเริ่มตั้งแต่กลับจาก Taiwan Mini-DebConf 2009 เมื่อเดือนกันยาฯ ก็เริ่มตีกลองประชุมกันตั้งแต่ตุลาฯ เป็นต้นมา จนกระทั่งวางกำหนดการที่วันที่ 13-19 มีนาฯ ได้ ก็มีเวลาถึง 5 เดือนในการเตรียมการ แต่เอาเข้าจริง ทุกคนต่างก็มีงานต้องทำ ทำให้กว่าจะมาตั้งตัวกันได้ก็มกราฯ (แต่แน่นอนว่าระหว่างนั้น อ.กิตติ์ ได้ติดต่อขอทุนในเบื้องหลังไปแล้ว) ลงรายละเอียดจริง ๆ ก็ กุมภาฯ และ finalize ตอน ต้นมีนาฯ นี่เอง
ที่ผมเสียดายก็คือ ไม่สามารถเตรียมกำหนดการล่วงหน้าได้ครบ ทั้งที่มีเวลามากขนาดนั้น อาจเป็นเพราะงานนี้เพิ่งจัดเป็นครั้งแรก ยังไม่สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากพอ ทำให้หัวข้อต่าง ๆ ขาดคนพูดไปเยอะ จำเป็นต้องตัดออกไปหลายเรื่อง แล้วก็ไหว้วานขอซ่อมเสริมกันทีหลังเอา บางเรื่องถึงกับต้องรบกวน DD ชาวต่างประเทศที่เพิ่งเดินทางมาถึงเหนื่อย ๆ ให้เตรียมบรรยายภายในคืนเดียว ซึ่งก็ทำให้รู้สึกเกรงใจเขามาก พอ ๆ กับที่รู้สึกขอบคุณเขาที่อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนช่วยเตรียมให้ ครั้งหน้าถ้าทำได้ อาจจะตั้งเป้าไว้ต่ำกว่านี้หน่อย เช่น ลดจำนวนวันลง
ผมเองก็ไม่เว้น.. การบรรยายในส่วนของผมก็ไม่มีเวลาเตรียมการมาก เพราะติดงานอื่น เช่น งานรับจ้าง งานแปล GNOME แถมซ้ำฮาร์ดดิสก์ยังมาพังในช่วงไม่กี่วันก่อนงานเริ่ม ทำให้ต้องส่งฮาร์ดดิสก์ไปซ่อม แล้วเตรียม live USB สำหรับใช้งานแก้ขัดแทน แทนที่จะได้ใช้เวลานั้นเตรียมบรรยาย
อีกเรื่องที่เสียดาย คือรู้สึกว่าประชาสัมพันธ์เรื่องกำหนดการยังไม่ดีพอ ผู้เข้าร่วมบางส่วนควรจะได้รับข้อมูลว่า งานนี้แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นกิจกรรมสำหรับนักพัฒนา ซึ่งเน้นที่ Bug Squashing Party ซึ่งเป็นการระดมกำลังกันแก้บั๊กเป็นหลัก ส่วนช่วงหลัง เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ Debian ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่นักพัฒนาอาจเข้าร่วมได้ หลายคนมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ แล้วก็ดูกร่อยไปบ้าง ซึ่งผมก็รู้สึกผิดเล็กน้อยที่แม้จะได้ให้ข้อมูลไปบ้างก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร
แต่เรื่องที่ทำให้อิ่มใจได้ ก็มีหลายเรื่อง เรื่องแรกคือได้ทำประโยชน์บางอย่างให้กับโครงการ Debian บ้าง คือจัดกิจกรรม Bug Squashing Party ซึ่งปรากฏว่าผู้เข้าร่วมได้เข้าไปแตะต้องบั๊กรวมกันทั้งหมดกว่า 50 บั๊ก ในจำนวนนี้ เป็นการปิดบั๊กไปถึง 30 บั๊ก มีแพตช์อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 14 บั๊ก (ตัวเลขยังไม่นิ่ง เนื่องจากบางบั๊กปิดด้วยการ upload แบบ delay ไป 2-3 วัน บางบั๊กที่เสนอแพตช์ไปก็อาจมีการรับแพตช์และปิดบั๊กในเวลาต่อมา)
เรื่องถัดมาคือ ได้เห็นผู้เข้าร่วมงานหลายคนให้ความสนใจเรียนรู้กระบวนการทำงานของ Debian และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ บางคนบอกผมว่า อยากเข้าร่วมกับ Debian มานานแล้ว แต่เพิ่งได้มาเรียนรู้กระบวนการกับของจริงก็ในครั้งนี้เอง ผมเชื่อว่า บรรยากาศการทำงานร่วมกับ DD หลายคนซึ่งไม่ได้พบได้บ่อยนักแบบนี้ คงจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คนได้ เหมือนกับที่ผมเคยได้รับมาแล้ว
นอกจากนี้ วาระหนึ่งที่คาดหวังไว้ในครั้งนี้ก็ดูมีความคืบหน้า คือเรื่องการปรับปรุง Debian mirror ในเมืองไทย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ Debian ให้มากที่สุด ในครั้งนี้ เราได้ อ.ฉัตรชัย จันทร์พริ้ม ผู้ดูแล ftp.th.debian.org มาให้ทัศนะและเล่าถึงการสร้างและดูแล Debian mirror และยังได้ Andrew Lee ผู้ดูแล ftp.tw.debian.org มาพา mirror admin ทั้งหลายเข้าชม facility และเครื่องมือต่าง ๆ ของ Debian เกี่ยวกับการทำ mirror รวมทั้งยังได้ทราบจาก John Ham ผู้ดูแล mirror.in.th เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของการดูแล mirror แห่งชาติ ทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น หวังว่าการพูดคุยครั้งนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงและแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ sync Debian mirror กันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้ากันได้กับระบบของ Debian กันมากขึ้นต่อไป
เรื่องเกี่ยวกับ internationalization ก็ได้เรียนรู้ระบบ workflow และ Pseudo-URL ที่ใช้สำหรับติดตามงานแปลของทีมแปลใน Debian ซึ่งอาจเป็นสิ่งจำเป็นถ้าเราจะแปลกันเป็นทีม
งานสังสรรค์ยามค่ำ แม้จะทำให้ต้องนอนดึกกันแทบทุกคืน แต่ปรากฏว่าได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ DD ได้ฟังเขาเล่าบรรยากาศของงาน DebConf ในอีกแง่มุมหนึ่ง ได้รู้จัก "Cheese and Wine Party" ในฉบับ Debian จาก Christian Perrier ผู้เป็นต้นตำรับเอง
ผมเชื่อว่า คนอื่น ๆ ก็คงได้รับประสบการณ์ในแง่อื่นแตกต่างกันไป อ่านแค่ blog ผมคงยังไม่ทำให้เห็นภาพได้ครบถ้วน คงต้องดูบันทึกของหลาย ๆ คนประกอบกัน
ป้ายกำกับ: debian, debianclub, local