Theppitak's blog

My personal blog.

24 กรกฎาคม 2550

Mozilla Pango-Break Backported

backport Mozilla pango-break patch จาก trunk มา 1.8 branch ละ เพื่อใช้กับ debian ต่อไป โดยทำ xulrunner ก่อน

1.8.1.5-1thai2 deb สำหรับ amd64 พร้อมใช้แล้วที่ LTN Apt ส่วน i386 รวมทั้ง iceweasel รอนิวตรอนมาทำให้

ด้วย patch ใหม่ (ดึงออกมาจาก dpatch ที่เพิ่มใน deb) นี้ xulrunner-libthai จะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเรียกผ่าน Pango แทน

ขอเขียนสั้น ๆ นะครับ แสบตา :P

ป้ายกำกับ: , ,

19 กรกฎาคม 2550

Mozilla Pango-Break (Really) Checked-in!

Mozilla Bug #336959 ปิดแล้วจริง ๆ หลังจากที่ ครั้งที่แล้ว patch ได้ check-in แต่โดนถอนออกมา โดยต้องรอให้ Text Layout ใหม่ถูก enable by default เสียก่อน

รอบใหม่นี้ยังต้องปรับ patch ไปมาหลายตลบกว่าจะได้เข้า (รายละเอียดอ่านได้ใน bug) ซึ่งสุดท้ายก็มาลงเอยที่วิธีที่เรียบง่ายที่สุด คือลิงก์ Pango เข้าไป ผ่าน adapter ง่าย ๆ โดยดัดแปลง nsJISx4051LineBreaker ให้เรียกออกมาเฉพาะช่วงที่มี complex text เพียงแต่ครั้งนี้ได้ล้วงลึกลงไปใน nsJISx4051LineBreaker มากกว่าที่เคย

เป็นอันว่า mozilla บน Linux สนับสนุนการตัดคำไทยผ่าน Pango เรียบร้อยแล้วใน trunk รอผู้สนใจทำโค้ดส่วนที่เรียก Uniscribe, ATSUI ก่อนที่ Firefox 3 จะออก (ใช้วิธีตาม patch ใหม่นะครับ โดย implement ฟังก์ชัน NS_GetComplexLineBreaks() แค่ฟังก์ชันเดียวเท่านั้น แล้วกำหนด build flag เลือกลิงก์เอา) ระหว่างนี้ platform ที่ไม่มี Pango ก็จะ fall back มาที่ rule-based breaker ไปพลาง ๆ

ปล. ตายังไม่หายดีครับ ต้องใช้เวลาหน้าเครื่องกับงานล้วน ๆ เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเลยมา blog ไว้ ขอบคุณทุกความเห็นเรื่องวิธีบำรุงตานะครับ

ป้ายกำกับ: , ,

13 กรกฎาคม 2550

When Time Matters

อาการแสบตายังคงรบกวนการทำงานอยู่เรื่อย ๆ ผมเลยต้องหยุดพักเป็นระยะ ๆ โดยรีบพักทันทีที่เริ่มรู้สึกว่าอาการจะมา ก่อนที่จะแสบ เพราะถ้าปล่อยให้แสบแล้ว จะต้องพักอีกยาว

นั่นทำให้ผมมีเวลาอยู่หน้าเครื่องน้อยลง แช็ตได้น้อยลง (เพราะถ้าแช็ตยาว จะลุกกลางคันได้ยาก) แม้แต่จะเขียน blog ก็รู้สึกว่าเป็นการใช้เวลาหน้าเครื่องได้ไม่คุ้ม จะต้องเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นเนื้องานเท่านั้น

ผมเคยพยายามเขียนอธิบายอุปสรรคของการทำงาน FOSS อิสระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงตัวเอง และการต่อต้านจากคนรอบข้าง โดยมีเจตนาจะให้ข้อมูลต่อผู้ที่อาจจะเดินตาม ว่าจะพบอุปสรรคอะไรบ้าง และอาจเป็นข้อมูลต่อผู้ที่อาจช่วยปรับสภาวการณ์ให้ดีขึ้น (เพราะตอนที่เริ่มออกมาทำงานอิสระ ผมเคยพูดไว้ว่า ขอเอาตัวเองเข้าทดสอบ) แต่ดูเหมือนไม่เป็นผลเท่าไรนัก มันกลายเป็นการบ่นหรือโอดครวญเสียมากในสายตาของผู้อ่าน หลัง ๆ ผมจึงเลิกเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วพยายามมุ่งแก้ปัญหาตามลำพัง แม้จะต้องโหมทำงานหลายด้านพร้อมกัน ก็ยังคิดว่าตัวเองจะรับไหว

ถึงวันนี้ ที่สุขภาพตาไม่อำนวยต่อการทำงานหลายทางอย่างเดิมอีกแล้ว ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเสียดายเวลาช่วงที่ผ่านมา ที่ได้ใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของตัวเองด้วยความจำเป็น มาตอนนี้ แม้จะอยากพยายามรับมือกับทุกทางเหมือนเดิม ก็คงต้องจำกัดสิ่งที่ทำ ให้อยู่เฉพาะในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ผมอาจต้องรับงานอื่นน้อยลง แช็ตน้อยลง รวมถึง blog น้อยลง ถ้าจะปรากฏตัวในเน็ต ก็คงจะมุ่งให้เหลือแต่ช่องทางเกี่ยวกับงานพัฒนาเป็นหลัก เช่นใน mailing list หรือ bugzilla

ผมยังเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังจะเดินในเส้นทางนี้นะครับ อย่าได้ท้อถอย อุปสรรคยิ่งมีมากเท่าไร ความสำเร็จที่ได้ฟันฝ่าก็ยิ่งมีค่ามากเท่านั้น แต่อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดี ให้มีพละกำลังทำงานได้นาน ๆ

ป้ายกำกับ:

04 กรกฎาคม 2550

FOSS and Anti-Piracy Campaign

ไม่ใช่แค่กระทู้จาก blognone หรือ ubuntuclub ที่มีการโยงเรื่องการรณรงค์ใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์กับการเผยแพร่ FOSS เข้าด้วยกัน แต่จะพบหลายแห่งที่โยงเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งก็พอจะเข้าใจเหตุผลได้อยู่ เพราะการทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของ FOSS ก็ต้องเห็นความแตกต่างเรื่องราคาเสียก่อน และจะเห็นความแตกต่างเรื่องราคา ก็ต้องให้เขาเข้าใจเสียก่อน ว่าราคาที่แท้จริงของซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์เป็นอย่างไร โดยรณรงค์ให้เข้าใจการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แล้วทุกคนก็เลยช่วยกันป่าวประกาศร่วมกับ BSA โดยมุ่งหวังให้เกิดการตื่นตัวของการใช้ FOSS แบบตระหนักถึงความสำคัญ

แต่.. ผมไม่แน่ใจ ว่านั่นจะเป็นวิธีที่เหมาะสม หลังจากที่ได้สังเกตปฏิกิริยาในที่ต่าง ๆ

จริงอยู่ ความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญต่อความเข้าใจแนวคิด FOSS โดยเฉพาะถ้าจะทำงานกับ FOSS แต่ propaganda ที่เป็นกระแสการโต้เถียงระหว่างผู้คนรอบนอกอย่างผิวเผิน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราร่วมประสานเสียงกับ BSA สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต่อต้าน BSA ก็จะต่อต้าน FOSS อย่างเหมารวมด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน ถ้าเราลดความร้อนแรงของการรุกผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลง แต่เน้นการเสนอทางเลือกใหม่ที่ราคาสมเหตุสมผลกว่าแทน จะทำให้เกิดความรู้สึกต่อการเปลี่ยนมาใช้ FOSS ว่าเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็นมากกว่าไหม?

พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักเรื่องวงจรอุบาทว์อันเกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ใช้ของเถื่อนเพราะซอฟต์แวร์แพง ซอฟต์แวร์แพงเพราะเป็นของนอก ต้องใช้ของนอกเพราะไม่มีของไทย ไม่มีของไทยเพราะไม่มีนักพัฒนาทำขาย นักพัฒนาไม่ทำเพราะมีแต่คนใช้ของเถื่อน วนเป็นวัฏจักร) และพบว่า FOSS เป็นหนทางหนึ่งที่จะบรรเทาวงจรนี้ ทั้งในส่วนผู้ใช้และผู้พัฒนา ในแง่นี้ FOSS ถือเป็นเครื่องมือช่วยอย่างหนึ่ง และการขูดเลือดขูดเนื้อของซอฟต์แวร์นอก ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เราพยายามจะแก้ด้วยซ้ำ แต่การที่คนกลุ่มเดียวกันไปรุกล้ำผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน โดยไม่มีโอกาสพูดประเด็นให้ครบ ก็เสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน โดยถูกเหมารวมเป็นพวกเดียวกับกลุ่มนายทุนที่ขูดเลือดขูดเนื้อเสียมากกว่า น้อยนักที่จะมีโอกาสพูดจนถึงการแนะนำ FOSS

สำหรับผม ทุกวันนี้ใช้ซอฟต์แวร์เสรี 100% เครื่องผมมี FreeDOS ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน แต่ OS หลักที่ใช้คือ Debian GNU/Linux นอกจากนี้ ก็แบ่งพาร์ทิชันเล็ก ๆ สำหรับ Ubuntu chroot ไว้ติดตามความคืบหน้า ผมไม่แตะต้องซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์มาหลายปีแล้ว หรือแม้แต่ freeware ที่ไม่เปิดซอร์ส ความพยายามใช้ FOSS ล้วนนี้ ไม่ใช่ว่าสุดโต่ง แต่เป็นเพราะได้เห็นแล้วว่าแนวคิด FOSS เป็นระบบที่สมเหตุสมผล เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผมจึงจงใจตีกรอบตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสการ contribute ของตัวเอง เพราะ FOSS คือระบบที่เราสามารถมีส่วนทำให้มันเป็นอย่างที่ต้องการได้โดยตรง ไม่ใช่แค่รอ อย่างน้อย ผมก็เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มที่ยืนยันว่ายังมีความต้องการ FOSS ในส่วนที่คนอื่น ๆ อาจจะใช้ non-free กัน

ก็เลยไม่เป็นคำถามสำหรับผม ว่า เถื่อนแค่ไหน การใช้แต่ FOSS ล้วน ๆ ก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสใช้ของเถื่อนตอนไหน แต่ผมไม่พยายามรุกล้ำให้ผู้อื่นเลิกใช้ของเถื่อน เพียงแต่พยายามปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกร้องขอถ้าเป็นซอฟต์แวร์เถื่อน ส่วนลินุกซ์ ไม่ใช้ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าใช้จะพยายามช่วย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง

ปล่อยให้ BSA เป็นผู้กวดจับก็พอแล้ว ถ้าเราจะพูดเรื่องลิขสิทธิ์ ก็พูดในแง่ที่ว่า FOSS สามารถช่วยลดภาระอันเกิดจากค่าซอฟต์แวร์ได้อย่างไรดีกว่า การโปรโมท FOSS ด้วยการพูดถึงข้อดีของ FOSS ย่อมดีกว่าการผูกติดกับการรณรงค์ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์โดยเสี่ยงต่อการถูกเหมารวมเป็นพวกนายทุน

มีข้อยกเว้น คือการพูดเพื่อให้เข้าใจปรัชญา FOSS ในลักษณะที่ไม่ใช่ propaganda เช่น การทำความเข้าใจ GPL กรณีนั้น ไม่พูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาย่อมไม่ได้

ป้ายกำกับ:

hacker emblem