FOSS and Anti-Piracy Campaign
ไม่ใช่แค่กระทู้จาก blognone หรือ ubuntuclub ที่มีการโยงเรื่องการรณรงค์ใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์กับการเผยแพร่ FOSS เข้าด้วยกัน แต่จะพบหลายแห่งที่โยงเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งก็พอจะเข้าใจเหตุผลได้อยู่ เพราะการทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของ FOSS ก็ต้องเห็นความแตกต่างเรื่องราคาเสียก่อน และจะเห็นความแตกต่างเรื่องราคา ก็ต้องให้เขาเข้าใจเสียก่อน ว่าราคาที่แท้จริงของซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์เป็นอย่างไร โดยรณรงค์ให้เข้าใจการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แล้วทุกคนก็เลยช่วยกันป่าวประกาศร่วมกับ BSA โดยมุ่งหวังให้เกิดการตื่นตัวของการใช้ FOSS แบบตระหนักถึงความสำคัญ
แต่.. ผมไม่แน่ใจ ว่านั่นจะเป็นวิธีที่เหมาะสม หลังจากที่ได้สังเกตปฏิกิริยาในที่ต่าง ๆ
จริงอยู่ ความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญต่อความเข้าใจแนวคิด FOSS โดยเฉพาะถ้าจะทำงานกับ FOSS แต่ propaganda ที่เป็นกระแสการโต้เถียงระหว่างผู้คนรอบนอกอย่างผิวเผิน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เราร่วมประสานเสียงกับ BSA สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต่อต้าน BSA ก็จะต่อต้าน FOSS อย่างเหมารวมด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน ถ้าเราลดความร้อนแรงของการรุกผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลง แต่เน้นการเสนอทางเลือกใหม่ที่ราคาสมเหตุสมผลกว่าแทน จะทำให้เกิดความรู้สึกต่อการเปลี่ยนมาใช้ FOSS ว่าเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็นมากกว่าไหม?
พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักเรื่องวงจรอุบาทว์อันเกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ใช้ของเถื่อนเพราะซอฟต์แวร์แพง ซอฟต์แวร์แพงเพราะเป็นของนอก ต้องใช้ของนอกเพราะไม่มีของไทย ไม่มีของไทยเพราะไม่มีนักพัฒนาทำขาย นักพัฒนาไม่ทำเพราะมีแต่คนใช้ของเถื่อน วนเป็นวัฏจักร) และพบว่า FOSS เป็นหนทางหนึ่งที่จะบรรเทาวงจรนี้ ทั้งในส่วนผู้ใช้และผู้พัฒนา ในแง่นี้ FOSS ถือเป็นเครื่องมือช่วยอย่างหนึ่ง และการขูดเลือดขูดเนื้อของซอฟต์แวร์นอก ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เราพยายามจะแก้ด้วยซ้ำ แต่การที่คนกลุ่มเดียวกันไปรุกล้ำผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน โดยไม่มีโอกาสพูดประเด็นให้ครบ ก็เสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน โดยถูกเหมารวมเป็นพวกเดียวกับกลุ่มนายทุนที่ขูดเลือดขูดเนื้อเสียมากกว่า น้อยนักที่จะมีโอกาสพูดจนถึงการแนะนำ FOSS
สำหรับผม ทุกวันนี้ใช้ซอฟต์แวร์เสรี 100% เครื่องผมมี FreeDOS ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน แต่ OS หลักที่ใช้คือ Debian GNU/Linux นอกจากนี้ ก็แบ่งพาร์ทิชันเล็ก ๆ สำหรับ Ubuntu chroot ไว้ติดตามความคืบหน้า ผมไม่แตะต้องซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์มาหลายปีแล้ว หรือแม้แต่ freeware ที่ไม่เปิดซอร์ส ความพยายามใช้ FOSS ล้วนนี้ ไม่ใช่ว่าสุดโต่ง แต่เป็นเพราะได้เห็นแล้วว่าแนวคิด FOSS เป็นระบบที่สมเหตุสมผล เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผมจึงจงใจตีกรอบตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสการ contribute ของตัวเอง เพราะ FOSS คือระบบที่เราสามารถมีส่วนทำให้มันเป็นอย่างที่ต้องการได้โดยตรง ไม่ใช่แค่รอ อย่างน้อย ผมก็เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มที่ยืนยันว่ายังมีความต้องการ FOSS ในส่วนที่คนอื่น ๆ อาจจะใช้ non-free กัน
ก็เลยไม่เป็นคำถามสำหรับผม ว่า เถื่อนแค่ไหน การใช้แต่ FOSS ล้วน ๆ ก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสใช้ของเถื่อนตอนไหน แต่ผมไม่พยายามรุกล้ำให้ผู้อื่นเลิกใช้ของเถื่อน เพียงแต่พยายามปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกร้องขอถ้าเป็นซอฟต์แวร์เถื่อน ส่วนลินุกซ์ ไม่ใช้ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าใช้จะพยายามช่วย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง
ปล่อยให้ BSA เป็นผู้กวดจับก็พอแล้ว ถ้าเราจะพูดเรื่องลิขสิทธิ์ ก็พูดในแง่ที่ว่า FOSS สามารถช่วยลดภาระอันเกิดจากค่าซอฟต์แวร์ได้อย่างไรดีกว่า การโปรโมท FOSS ด้วยการพูดถึงข้อดีของ FOSS ย่อมดีกว่าการผูกติดกับการรณรงค์ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์โดยเสี่ยงต่อการถูกเหมารวมเป็นพวกนายทุน
มีข้อยกเว้น คือการพูดเพื่อให้เข้าใจปรัชญา FOSS ในลักษณะที่ไม่ใช่ propaganda เช่น การทำความเข้าใจ GPL กรณีนั้น ไม่พูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาย่อมไม่ได้
ป้ายกำกับ: FOSS
7 ความเห็น:
ณ 4 กรกฎาคม 2550 เวลา 22:38 , Kruyuth 's Blog แถลง…
บ้านเราพูดยากครับ ในเมื่อซอฟต์แวร์เถื่อน กับ FOSS ราคาใกล้กันเหลือเกิน
ณ 4 กรกฎาคม 2550 เวลา 23:28 , veer แถลง…
บางทีเราถูกกดดันจากหน่วยงานต่างๆ ให้ใช้ FOSS ไม่ได้ เช่น บังคับใช้ Angsana New บังคับให้ใช้ .doc ฯลฯ
การพลักดันเรื่องฟอนท์ชาติก็อาจจะน่าทำ? เพิ่มเข้ารัฐธรรมนูญดีมะ?
ณ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 00:15 , veer แถลง…
Thaifont-scalable สถานะบน Windows เป็นไงบ้างครับ render ออกมาแล้วสวยดีหรือเปล่า? ถ้าจะผลักตอนนี้ป๋าเทพคิดว่าเป็นไงครับ?
ณ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 05:45 , Noi แถลง…
บางทีมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องเหล่านี้หรอกนะครับคุณเทพ ...
ใน DNA ของคนไทย ยังมีเรื่องชอบใช้ของ Brand Name อีกด้วย
และก็ยังมี "เอาแบบที่เขาใช้ๆ กัน" (ดูจากกระแสจตุฯ ประกอบ)
ผมมองว่าความซื่อสัตย์ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นนิสัยใหม่ได้ แต่ส่วนหนึ่งมันถูกฝังอยู่ในสันดานจริงๆ นะ
ณ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 10:27 , Mr.Somjate แถลง…
จากลิงค์ทั้ง 2 เว็บนั้น ผมคิดว่ามีประโยชน์มากนะครับ สะท้อนการใช้คอมพิวเตอร์ที่แท้จริง การรณรงค์ในเรื่องค่าซอฟท์แวร์ หรือการผิดกฏหมาย อาจจะไม่ได้ผลนักในแง่ในการใช้งานส่วนบุคคล
เห็นด้วยในเรื่องการโปรโมท FOSS ในเรื่องข้อดีและจุดเด่นในการใช้ อาจสร้างกระแสเพื่อดึงดูดความสนใจ ตัวอย่าง Compiz/Beryl ทำให้หลายคนๆเริ่มสนใจมากขึ้น หลายคนเริ่มรู้จักลินุกส์ หลายคนอยากเรียนรู้เพิ่มเติม
การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบยกข้อด้อยหรือจุดอ่อนมาโจมตีหรือกล่าวหาแบบที่ผ่านมานั้น อาจจะก่อเกิดแรงต้านลบมากกว่าผลบวกตามที่ต้องการ ส่วนตัวมีความเห็นเช่นนั้นครับ
ณ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 10:48 , CrazyHOrse แถลง…
เป็นคนละเรื่อง เห็นด้วยว่าควรแยกกันครับ
และจริงเป็นอย่างยิ่งที่คุณ veer ว่าถูกบังคับจากหน่วยงานรัฐให้ส่งไฟล์ที่เป็น proprietary ทำให้ FOSS เกิดยาก
แต่ใส่ลงรัฐธรรมนูญนี่ไม่เห็นด้วยครับ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเชิงนโยบาย เปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยครับ
ณ 5 กรกฎาคม 2550 เวลา 17:52 , ไม่ระบุชื่อ แถลง…
คนในสายงานพูดไปก็รู้เรื่องกันอยู่เท่าแค่ในกลุ่ม ลองไป
พูดคนเรื่องอย่างนี้กับคนที่เขาไม่สนใจดิ การผลักดันอะไร
มันหักดิบไม่ได้หรอก เพราะคนไม่รู้ย่อมต้องมีมากกว่า
คนรู้
คนเก่งในสังคมไทยคือคนที่รู้จักเอาของสำเร็จรูปมาใช้
ประโยชน์ได้มากกว่า ซึ่งไม่เก่งเลย เช่นบางคนให้สอน
วิธีย่อรูปเพื่อลงเว็บ ไอ้คนที่สอนก็สอนเปิด photoshop gimp
เงี้ย บ้าหรือเปล่า หรือเขียนไฟล์ข้อความครึ่งหน้า ก็เปิด
word กันแล้ว เวลาเขาชมกันเขาก็บอกว่าพวกนี้เก่ง
คอมฯ มาก จริง ๆ แล้วมันก็แค่ใช้โปรแกรมหนึ่งเป็น
มันไม่ใช่อยู่ที่สันดานนะ มันอยู่ที่การแนะนำคนที่ไม่รู้แบบ
ผิด ๆ ผู้ตามซึ่งเป็นผู้ไม่รู้ก็รับไป
แบบผิด ๆ
เรื่องฟอนต์ Angsana New น่ะ ถ้าเริ่มที่อาจารย์ที่ปรึกษาได้
คนตรวจเขาก็ยอม ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าให้
เพิ่มฟอนต์ที่มีชื่อพระราชทานเข้าไปด้วย เขาก็ยอม
ในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาต้องผลักดัน
ซึ่งนักศึกษาก็ต้องผลักดันอาจารย์อีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่
ก็เห็นนักศึกษาเป็นแต่พวก NATO กัน
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก