Theppitak's blog

My personal blog.

19 มิถุนายน 2550

ไซอิ๋ว (อีกที)

ผมเคย เขียนถึง ไซอิ๋วไปแล้วเมื่อสามปีก่อน ตอนนั้นยังไม่รู้จะเขียน blog เรื่องอะไร เลยขุดเอาเรื่องหนังสือที่เคยอ่านมาเขียน ตอนนั้นอ่านแค่เรื่องย่อและการตีปริศนาธรรม จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไปได้หนังสือไซอิ๋วทั้งเรื่องมาจากงานหนังสือ ตอนนี้เพิ่งได้ฤกษ์อ่าน โดยค่อย ๆ อ่านก่อนนอนคืนละนิดละหน่อย เทียบกับหนังสือตีปริศนาธรรมของอาจารย์เขมานันทะไปด้วย

ไซอิ๋ว จัดเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน (ซ้องกั๋ง สามก๊ก ไซอิ๋ว ความฝันในหอแดง) เป็นงานวรรณกรรมที่มีมิติหลากหลายมาก กล่าวคือ:

  • เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ คือการเดินทางไปอาราธนาพระไตรปิฎกของพระถังซำจั๋ง หรือเหี้ยนจึง ในสมัยพระเจ้าถังไทจง ที่ประเทศอินเดีย คุณ ล. เสถียรสุต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ได้เขียนคำนิยมเกี่ยวกับไซอิ๋วไว้ ว่ามีการสอดแทรกสถานที่ต่าง ๆ ในบันทึกการเดินทางของพระถังซำจั๋งในประวัติศาสตร์จริงไว้พอประมาณ เช่น ภูเขาที่ร้อนจัดในเขาอัลไตตาด กลายมาเป็นภูเขาที่มีไฟลุกตลอดเวลา, บันทึกพระถังซำจั๋งเรื่องงานฉลองมาฆบูชาที่มีการจุดโคมไฟ ก็มาปรากฏในเรื่อง
  • เป็นมหากาพย์ บรรยายให้เป็นการเดินทางผจญปีศาจ ด้วยการช่วยเหลือของเทพยดาและพระโพธิสัตว์ จนลุล่วงถึงไซที มิตินี้ ทั้งเน้นความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ของพระถังซำจั๋ง ทั้งบอกเล่าความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทพเจ้าต่าง ๆ รวมถึงพระโพธิสัตว์และพระพุทธตามคติจีนด้วย
  • เป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับเยาวชน เห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง กลายเป็นต้นแบบของเรื่องแต่งอีกหลายเรื่อง กับความถนัดที่ต่างกันในทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โดยเฉพาะเห้งเจียหรือซึงหงอคงนั้น กลายเป็นต้นแบบของตัวเอกการ์ตูนหลายเรื่องทีเดียว
  • เป็นบันทึกวัฒนธรรมจีน แม้เรื่องหลักจะเป็นพุทธศาสนา แต่ก็ได้แฝงคติของลัทธิเต๋าและธรรมเนียมจีนไว้ประปราย รวมทั้งสุภาษิตจีนที่ตัวละครใช้พูด
  • เป็นเรื่องแฝงปริศนาธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องขอบคุณอาจารย์เขมานันทะ ที่ได้ขบคิดไขปริศนาธรรมออกมาให้ศึกษา

น้อยคนที่จะไม่รู้จักไซอิ๋ว มีสมัยหนึ่งที่มีการทำเป็นซีรีส์ออกฉายทางทีวีหลายซีรีส์ เด็กติดกันงอมแงม แต่เท่าที่ผมจำได้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่ฉายจนถึงตอนจบเลย หรือผมเลิกติดตามเองก็ไม่รู้ ทำเป็นหนังโรงก็ยังเคย โดยตอนที่ดังที่สุดน่าจะเป็นตอนพัดวิเศษ ที่ใช้ดับภูเขาที่ไฟลุกท่วมตลอดเวลา ถ้าไม่นับตอนอาละวาดบนสวรรค์ตอนต้นเรื่อง

ไซอิ๋วสนุกก็จริง แต่เด็กมักไม่สนใจรายละเอียด เพราะเป็นการเข้าเมืองนั้นเมืองนี้ ปราบปีศาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สนใจระนาบจิตวิญญาณ การอ่านไปพร้อมกับเฉลยปริศนาธรรม จะทำให้การเข้าเมืองแต่ละเมืองนั้น ไม่มีอะไรซ้ำกันเลย

บางที ท่านกวี โหงวเส่งอึง อาจเกรงว่าจะไม่มีใครมองเห็นระนาบจิตวิญญาณก็ได้ จึงได้ทิ้งรูโหว่ในเรื่องไว้ เริ่มจากความคลาดเคลื่อนของเวลาระหว่างพุทธกาลกับสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งห่างกันกว่าพันปี แต่ในเรื่อง พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ โดยประทับที่วัดลุยอิมยี่ บนเขาเล่งซัว (อาจจะมีนัยถึงพระคันธกุฎีที่เขาคิชกูฎ?) จนนายวรรณผู้ตรวจสำนวนคิดว่านายติ่นแปลมั่ว จะแก้นายติ่นก็ไม่ยอม (ขอบคุณนายติ่นที่ไม่ยอม) จึงได้เขียนหมายเหตุไว้ตอนท้ายว่าเป็นเรื่อง "แต่อยู่ข้างติดตลกหัวอกลิง เท็จกับจริงปนกันทั้งนั้นเอย" แต่จะว่าไป ก็คิดอีกแนวหนึ่งได้ ว่าพุทธฝ่ายมหายานนั้น เขาถือว่าสัมโภคกายของพระพุทธเจ้ายังคงสถิตอยู่ที่ดินแดนสุขาวดี ซึ่งต่างจากคติเถรวาทของเรา ที่ถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่เกิดอีกในภพภูมิใด ๆ

นอกจากนี้ ในหลายตอน คำพูดโต้ตอบระหว่างตัวละครก็ดูแฝงนัยบางอย่างนอกเหนือเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อก่อนจะถึงวัดลุยอิมยี่ ต้องข้ามน้ำที่เชี่ยวกรากด้วยเรือท้องโหว่นั้น คำพูดแปลกประหลาดมาก และเมื่อข้ามน้ำมาแล้ว พระถังและศิษย์ทั้งหมดก็ละอุปาทานขันธ์ได้ จุดนี้น่าจะเป็นการบอกใบ้อย่างชัดเจน ว่าโครงเรื่องทั้งหมดน่าจะแฝงอะไรไว้

แต่การถอดปริศนาทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณวรรณผู้ตรวจสำนวนแปลเอง เคยแนะว่า คณะเดินทางสี่คนอาจเหมายถึงอิทธิบาทสี่ ส่วน อ.เขมานันทะ ก็เขียนไว้ว่า เดิมท่านที่ดูที่นิสัย เห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง แล้วตีความออกมาเป็น ราคะ โทสะ โมหะ จนกระทั่งครูของท่านได้ชี้ว่า แท้ที่จริงน่าจะเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน พระถังต้องอาศัยสามสิ่งนี้ปราบปีศาจ และฝึกไตรสิกขานี้ไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่เขตโลกุตรธรรม

หลังจากได้แนวทางนี้แล้ว ท่านจึงได้ขบคิดปริศนาเป็นตอน ๆ โดยเค้าโครงหลักของบุคลาธิษฐานคือ:

  • เห้งเจีย หรือ ซึงหงอคง คือปัญญา เปรียบดุจลิงที่ซุกซนว่องไว เมื่อยังเป็นมิจฉาทิฐิสามารถก้าวร้าวไปได้ทั้งสวรรค์บาดาล แต่ปัญญาชนิดนี้ เป็นได้เพียงเป๊กเบ๊อุน หรือนายกองเลี้ยงม้าบนสวรรค์เท่านั้น แม้จะมีอหังการ์ (แบบที่ฝรั่งเรียกว่า sophomoric) เรียกตัวเองว่าซีเทียนไต้เซียก็ตาม ต่อเมื่อถูกพระยูไลปราบพยศให้เข้าทางสัมมาทิฐิแล้ว จึงกลายเป็นกำลังสำคัญของการบรรลุไซทีของพระถัง
  • โป๊ยก่าย (ศีลแปด) หรือ ตือหงอเหนง คือศีล เมื่อยังเป็นมิจฉาทิฐินั้น ทุศีลทุกเรื่อง ตะกละมูมมาม มักมากในกามราคะ โป้ปดมดเท็จ เมื่อได้เข้าทางสัมมาทิฐิแล้ว จึงได้เป็นกำลังสำหรับปราบปีศาจทางน้ำที่เห้งเจียไม่ถนัด
  • ซัวเจ๋ง หรือ ซัวหงอเจ๋ง คือสมาธิ เมื่อยังเป็นมิจฉาทิฐินั้น กบดานอยู่ใต้น้ำ คอยทำร้ายผู้คน ต่อเมื่อพบพระถัง จึงได้ช่วยระวังหลังขบวน หาบสัมภาระ และคอยระวังรักษาพระถังเมื่อศิษย์พี่ทั้งสองออกไปสู้กับปีศาจ รวมทั้งเป็นกำลังต่อสู้ปีศาจในน้ำด้วย
  • พระถังซำจั๋ง คือขันติ ซึ่งเป็นธรรมสำหรับรักษาอุดมการณ์ ควบคุมให้การเดินทางเป็นไปอย่างเรียบร้อย
  • ม้าขาว ซึ่งเป็นมังกรแปลงเป็นม้า คือวิริยะ (ความเพียร) มาแทนม้าที่พระเจ้าถังไทจงพระราชทาน หมายถึงการแทนที่วิริยะที่เกิดจากศรัทธา มาเป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา
  • พระเจ้าถังไทจง คือศรัทธา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเดินทาง
  • เมืองบาดาล หมายถึงการกบดานของกิเลสที่ฝังแน่นเป็นนิสัย ซึ่งเมื่อปีศาจลงน้ำ เห้งเจียซึ่งเป็นปัญญาที่ยังไม่ได้ฝึก จะใช้ละกิเลสชนิดนี้ไม่ได้ จำต้องใช้โป๊ยก่ายซัวเจ๋ง คือศีลและสมาธิ ในการละนิสัยเหล่านั้น
  • พญาเล่งอ๋อง จึงหมายถึงธรรมที่เกี่ยวกับนิสัยและการฝึกนิสัย และเป็นญาติกับซัวเจ๋ง (สมาธิ) เช่น อิทธิบาทสี่ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)
  • พระโพธิสัตว์กวนอิม หมายถึงเมตตา กิเลสบางอย่างสามารถละได้ด้วยเมตตา อุปมาเหมือนเห้งเจียเมื่อสิ้นหนทางปราบปิศาจบางตัว ก็ต้องเหาะไปนิมนต์พระโพธิสัตว์มาช่วย
  • พรหมท้ายเสียงเล่ากุน ซึ่งตามตัวอักษรหมายถึงเหลาจื๊อ แต่ตามบุคลาธิษฐานหมายถึงอุเบกขา
  • วัดลุยอิมยี่ ที่ประทับของพระยูไลพุทธะ หมายถึงพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายของการเดินทาง

ได้เค้าโครงแบบนี้ แล้วพบปีศาจชนิดต่าง ๆ จะไม่พบว่าซ้ำกันเลย แต่ละตอนคือฉากหนึ่งในชีวิตนักปฏิบัติธรรมทั้งนั้น ดังที่ท่านเขมานันทะท่านว่า:

มิใช่พระถังผจญ ผีบนเส้นทางสายไหม
แต่บนหนทางสายใจ จึงได้พบพระพุทธะ
ลึกนักชักฉงนคนว่า แต่งบ้าห้าร้อยสวะ
พระถังพร้อมทั้งคณะ เงอะงะในใจเจ้าเอง

ปีศาจบางตน ถูกฆ่าตาย แต่บางตน ถูกขอชีวิตไว้ แล้วไปอยู่รับใช้พระโพธิสัตว์ ก็เพราะกิเลสบางชนิดสมควรต้องกำจัดให้หมดไป เช่น นิวรณ์ 5 แต่บางชนิดกำจัดไม่ได้ แต่ต้องทดใช้ไปในทางธรรม เช่น มิจฉาวาจา จะให้ฆ่าโดยหยุดพูดก็ไม่ได้ แต่ต้องทดใช้ไปในทางสัมมาวาจาแทน การเข่นฆ่าปีศาจของเห้งเจียตามนัยของบุคลาธิษฐาน ก็ไม่ใช่เรื่องของปาณาติบาต การที่พระถังห้ามไว้ ก็ไม่ใช่เมตตาธรรม แต่เป็นความอาลัยกิเลสของขันติ ที่ยังยึดมั่นบางอย่างไว้ แม้ปัญญาจะรู้เท่าทัน แล้วขันติก็ทะเลาะกับปัญญา ไล่หนีไป หันไปใช้ศีลนำทาง จนสุดท้ายก็เข้ารกเข้าพงไปตกหล่มปีศาจ เหล่านี้คือการต่อสู้ในจิตใจของผู้ปฏิบัติเอง ที่บางครั้งก็ยึดมั่นในหนทางบางอย่างมากเกินไป สุดท้าย ศีลก็ต้องมีปัญญากำกับด้วย จึงจะไปรอด

ในช่วงแรกของการเดินทาง พระถังจะโปรดปรานโป๊ยก่าย ไม่ชอบความโหดร้ายของเห้งเจีย ต่อเมื่อเข้าใกล้ไซที พระถังจึงเชื่อใจเห้งเจียมากขึ้น

เรื่องในแนวมหากาพย์มักจะเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์อิเลียด โอดีสซีย์ มหาภารตะ รามายณะ หรือไซอิ๋ว คือแทนการเดินทางผจญภัยของวีรบุรุษด้วยการต่อสู้ทางนามธรรม ผู้ที่เสพเพียงอรรถรสตัวอักษร ก็จะได้ความเพลิดเพลิน หรืออาจได้จิตใจฮึกเหิมในอุดมการณ์ หรือบางคนอาจจะมองด้วยแว่นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องโกหกพกลม เป็นความงมงายของคนสมัยก่อน แต่สำหรับผู้ที่เสพธรรมรสในมหากาพย์ด้วยแล้ว กลับจะเห็นสิ่งเดียวกันนั้นเป็นรหัสอันลึกล้ำ เทพนิยายจะเป็นเรื่องงมงายหรือเป็นรหัสธรรมก็ต่างกันตรงนี้เอง

ป้ายกำกับ: ,

4 ความเห็น:

  • 19 มิถุนายน 2550 เวลา 21:41 , Blogger Sakura แถลง…

    อ่านจนจบครับ ไม่คิดว่าจะแฝงคติธรรมลึกซึ้งแบบนี้ ดูหนังทีไรก็ได้แต่ความสนุกสนานของการต่อสู้ผจญภัย

     
  • 20 มิถุนายน 2550 เวลา 02:19 , Blogger Oakyman แถลง…

    ลึกซึ้งจริงๆ ครับ

     
  • 20 มิถุนายน 2550 เวลา 05:48 , Blogger Noi แถลง…

    (อย่างนี้หนุมานเก่งกว่า ลงน้ำได้ แถมผลิตลูกอีกต่างหาก) :D

     
  • 20 มิถุนายน 2550 เวลา 07:28 , Blogger Thep แถลง…

    อันที่จริง ไซอิ๋วอาศัยเค้าโครงบางอย่างของรามายณะครับ แต่บุคลาธิษฐานต่างกัน รามายณะเป็นคติฮินดู พระรามกับพระถังคล้ายกัน คือหมายถึงสัจจะต่ออุดมการณ์ ส่วนหนุมานหมายถึงภักตะ หรือความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า นางสีดาคืออาตมันที่ถูกราวนะคืออหังการลักตัวไป พระรามต้องต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับอาตมัน

    หนุมานในรามายณะถือศีลประพฤติพรหมจรรย์ครับ ที่มีเมียเยอะแยะในรามเกียรติ์เป็นการปรับเนื้อเรื่องของไทยเอง ตามประสาวรรณคดีไทยที่ต้องแทรกเรื่อง รัก ๆ ใคร่ ๆ แต่ธีมหลักของเรื่องคือพระราม ยังมีชายาองค์เดียวอยู่

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem