Thanks, and the June Diary
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อ.พฤษภ์ บุญมา ได้หย่อนสตางค์ลงหมวกเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาของผม ขอขอบคุณอีกครั้งครับ
สำหรับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา งานหลักก็ยังคงเป็นโครงการอักษรอีสานยืนพื้น โดยมีการตัดสินใจลงมือกระทำบางอย่าง คือ
- ตั้งกลุ่มอักษรอีสานใน Facebook เพื่อเรียนเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอักษรอีสานมาช่วยให้ข้อแนะนำ หลังจากที่ผมได้พบผู้รู้ทาง Facebook มาหลายท่านก่อนหน้านี้
- ตัดสินใจใช้รหัสยูนิโค้ด U+0324 COMBINING DIAERESIS BELOW แทนตัวสะกดแม่กกจุดคู่ในอักษรธรรมอีสานไปพลางก่อน โดยปรับเพิ่มทั้งในฟอนต์โคตรบูรณ์ และ ระบบป้อนข้อความล้านช้าง พร้อมกันนี้ก็ได้ปรับปรุงร่างข้อเสนอขอเพิ่มอักขระอักษรธรรมเพื่อให้อ้างอิงได้สะดวกในตัวเองด้วย
- ทดลองใช้ระบบวิราม (virama) สำหรับตัวเฟื้องของอักษรไทน้อยที่ยืมมาจากอักษรธรรม โดยทดลองใช้กับการปริวรรตหนังสือใบลานเรื่อง พญาคันคาก ปรากฏว่า Pango/Harfbuzz มันวาดให้ใน GTK+ ขณะเตรียมข้อมูลก็จริง แต่ Firefox ไม่ยอมวาดตัวเฟื้องบนเว็บให้ คาดว่าระบบจัดแสดงข้อความของ Firefox คงมีการกลั่นกรองอักขระยูนิโค้ดเข้มงวด ทำให้ได้แนวทางว่าควรจะถอยมาใช้วิธีกำหนดอักษรเป็นตัว ๆ ตามแนวทางเดิมของอักษรไทย-ลาวไปพลางก่อน เมื่อได้ข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสุดท้ายแล้วค่อยมาปรับแก้ตามมาตรฐานทีหลัง
- ตัดลำดับ SAKOT + อ อักษรธรรมออกจากฟอนต์โคตรบูรณ์ เพราะเป็นลำดับที่ไม่ถูกต้อง แต่ผู้ใช้มักจะชอบใช้มากกว่าจะใช้สระออล่าง (U+1A6C) ที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดข้อมูลที่ผิดมาตรฐาน จึงตัด fallback นี้ออก
- ปรับวิธี map ปุ่มในระบบป้อนข้อมูลล้านช้าง จากเดิมที่ map อักขระ ASCII ไปเป็นอักษรธรรม มาเป็นการ map จากตำแหน่งปุ่มโดยตรง เนื่องจากการ map จาก ASCII จะมีปัญหาเมื่อผู้ใช้พยายามสลับผังแป้นพิมพ์ด้วย XKB แทนการสลับ IBus engine โดยในผังแป้นพิมพ์ไทยจะยังมีบางปุ่มที่เป็นอักขระ ASCII อยู่ เช่น / - , . ? แต่พอผู้ใช้พยายามกดอักขระเหล่านี้ในผังแป้นพิมพ์ไทย ล้านช้างจะแปลงอักขระเหล่านี้เป็นอักษรธรรมเสีย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ
- ปรับโค้ดใน IBus-LibThai ในทำนองเดียวกันด้วย (ผมเคย blog ไปแล้ว ว่า IBus-LibThai สำหรับภาษาไทยนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยแรงกระตุ้นจากโครงการอักษรอีสาน แม้การพัฒนาในระยะต่อมาก็ยังเป็นจริงอยู่ IBus-LibThai นั้น เข้า Debian และ Ubuntu ไปแล้ว แต่ IBus-Lanxang ยังต้องรอความชัดเจนอีกสักหน่อยเกี่ยวกับตัวมาตรฐาน)
งานอื่นที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน:
- ปรับคำแปล ISO 3166-2 ในโครงการ iso-codes โดยอ้างอิงหนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์ ทำให้คำแปลปรับจาก (732 translated, 218 fuzzy, 3749 untranslated) ไปเป็น (1829 translated, 58 fuzzy, 2812 untranslated)
- edit แผนที่ OSM ในกรุงเทพฯ และขอนแก่น อันเป็นควันหลงจากงาน INET Bangkok 2013 และ Netizen Meetup โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิก KKLUG ด้วย
สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ ก็คงจะเดินหน้าโครงการอักษรอีสานต่อไปครับ โดยจะไปเน้นที่อักษรไทน้อยมากขึ้น