Theppitak's blog

My personal blog.

08 มิถุนายน 2556

INET Bangkok 2013

bact' ในนามของ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ชวนผมมางาน INET Bangkok 2013 (พรุ่งนี้ต่องาน Netizen Meetup อีกงานหนึ่ง)

ผมไม่ได้คลุกคลีกับเรื่องเครือข่ายสักเท่าไร เป็นผู้ใช้เสียมากกว่า มางานนี้ก็ได้เปิดหูเปิดตาหลายเรื่องอยู่

  • การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในชนบท ผมเข้าใจผิดเรื่องตารางเวลา เลยไม่ทันครึ่งแรก (ทราบแต่ว่ามีเรื่อง mesh network ที่ ดร.อภินันท์ [เพื่อนผม] บรรยายไป ซึ่งถูกพาดพิงถึงอยู่หลายครั้งในครึ่งหลัง) ในครึ่งหลังนั้น ได้รู้ถึงความพยายามต่าง ๆ ที่จะให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่:
    • การฝึกคนในชุมชน ให้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่เป็นช่องทางขายของ, เข้าถึงบริการภาครัฐ และเผยแพร่เอกลักษณ์ท้องถิ่น
    • มุมมองของ ISP ที่อยากให้ราคา ADSL ถูกลง, คุณภาพเครือข่ายดีขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้เน็ตที่เน้นวิดีโอมากขึ้น, การเรียกร้องภาครัฐให้เปิด content มากขึ้น
    • การลากสายอินเทอร์เน็ตไปตามสถานศึกษาของ UniNet พร้อมกับช่วยโรงเรียนออกแบบระบบเพื่อรองรับการใช้งานที่เริ่มเปลี่ยนเป็น mobile มากขึ้น, การดูแลอุปกรณ์และสายสัญญาณต่าง ๆ ซึ่งจะเจอปัญหาไม่คาดคิด เช่น มดเข้าไปทำรัง กระรอกกัดสาย ฯลฯ
    • กิจกรรมส่งเสริมทีวีท้องถิ่น คอมพิวเตอร์เพื่อน้องในชนบท และการสื่อสารในพื้นที่ภัยพิบัติของมูลนิธิกระจกเงา (อย่างหลังสุด พบว่าวิทยุสื่อสารคือสิ่งที่ช่วยได้มากที่สุด ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ)
    • การสร้าง eco-system ของ Google ตั้งแต่การเสนอช่วยเก็บ content ที่มีคุณภาพ (เช่น กระทู้พันทิป), telemedicine โดยใช้แฮงเอาท์ของ Google+ และกระทั่ง Google map, การช่วยโรงเรียนจัดการเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดย Google ยึดหลักว่าไม่ทำแบบทั่วทั้งประเทศ แต่ทำแค่บางแห่งเพื่อค้นหา best practice เป็นต้นแบบให้ที่อื่นทำตาม
  • Open Data น่าจะเป็นประเด็นที่ได้ยินมากที่สุดในงานนี้ กล่าวคือ จากแนวคิดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ได้ขยายไปถึงสาขาอื่น ๆ หนึ่งในนั้นคือ open data โดยข้อมูลที่เปิดนั้น ไม่ใช่แค่เอาขึ้นเว็บแล้วก็จบ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่เครื่องสามารถประมวลผลเป็นสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยเปิดข้อมูลในลักษณะนี้ไปมากแล้ว ส่วนประเทศไทยก็กำลังจะมีข่าวดีจาก สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ว่าอาจจะมี data.go.th เร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ยังได้ฟังกรณีตัวอย่างของความเคลื่อนไหวภาคประชาชนทั้งจากไต้หวันและเชียงใหม่ด้วย

และยังมีประเด็นอีกมากมายใน closing session แต่ความรู้สึกรวม ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฟังในงานนี้ก็คือ มันคล้ายเป็นอีกกรณีหนึ่งของประเทศไทย ถัดจากเรื่องรถไฟ, วงการซอฟต์แวร์ จนถึงวงการลินุกซ์/โอเพนซอร์ส ที่ไทยเริ่มก่อนใครในภูมิภาค แต่ก็ไปอย่างเชื่องช้า (บางเรื่องแทบหยุดนิ่ง) จนประเทศที่เริ่มทีหลังเขาแซงหน้ากันไปหมด

หรือประเทศเราจะถูกสาปให้เป็นเช่นนั้น?!

ปล. เพิ่งมานึกได้หลังจากงานเลิกแล้ว ว่างานพัฒนาโอเพนซอร์สก็เป็นผลิตผลสำคัญอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตเหมือนกันนี่หว่า (เกี่ยวข้องกับงานเขาจนได้เหมือนกัน) แต่ตอนนี้ไทยเราเริ่มซาไปนานแล้ว คงไม่มีอะไรให้พูดสักเท่าไร

ป้ายกำกับ:

04 มิถุนายน 2556

Thanks

ขอขอบคุณ อ.พฤษภ์ บุญมา ที่ได้หย่อนสตางค์ลงหมวกเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีของผมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาครับ ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนเป็นตัวเงินแล้ว ก่อนหน้านี้ อ.พฤษภ์ ยังได้สมทบแพตช์สำหรับ ThaiLaTeX ซึ่งขณะนี้ได้กลายร่างเป็น Babel-Thai เรียบร้อยแล้ว ขอให้โอเพนซอร์สเมืองไทยจงเจริญครับ!

เดือนที่ผ่านมา นอกจากการประสานงานกับนักพัฒนา TeX Live เพื่อผลักดัน ThaiLaTeX เข้าสู่กระแสหลักแล้ว งานพัฒนาอื่น ๆ ก็มีเรื่องการย้ายแพกเกจใน Debian ที่ผมอัปโหลดไว้ที่ experimental ในระหว่างที่ Wheezy freeze อยู่ เข้ามาที่ unstable ซึ่งขณะนี้แพกเกจเกือบทั้งหมดก็ได้ย้ายเข้า testing ไปแล้ว และอีกงานหนึ่งคือการปรับปรุงฟอนต์ในโครงการอักษรอีสาน เพื่อให้ครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ที่ขาดตกบกพร่องอยู่ เช่น การจัดการไม้อังแล่นตามข้อกำหนดแบบไม่ใช้วิรามหรือพินทุ (รายละเอียดยังอยู่ระหว่างอภิปราย), การจัดเรียงสระใต้บรรทัดเมื่อมีตัวเฟื้อง, การใช้วรรณยุกต์, การจัดการสระอำเจ้าปัญหา (อักษรธรรมไม่ได้ encode สระอำ แต่ใช้สระอา + นิคหิต ประกอบกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้หมดปัญหา ตราบใดที่ยัง encode แบบ phonetic order อยู่), เริ่มเพิ่ม OpenType feature ให้อักษรไทน้อยบ้าง

ทั้งนี้ งานปริวรรตใบลาน เพื่อสำรวจอักขรวิธีอักษรอีสานให้ทั่วถึง ก็ยังคงดำเนินต่อไป

สำหรับเดือนนี้ ผมคิดว่าจะเริ่มจากการเคลียร์งานแปล GNOME ที่มีผู้ส่งคำแปลเข้ามารอไว้นานแล้วในระหว่างที่ผมไปทำงานอื่นอยู่ จากนั้นก็อาจจะสลับไปอัปเดตชื่อเมืองต่าง ๆ ใน iso-codes และแพกเกจที่คล้ายกัน หลังจากได้ไอเดียว่าจะใช้ชื่อตามแผนที่ภูมิศาสตร์ฉบับภาษาไทย จากนั้นก็ไปที่งานอื่นตามแต่โอกาสจะอำนวยครับ

ป้ายกำกับ:

hacker emblem