Theppitak's blog

My personal blog.

28 กุมภาพันธ์ 2554

Esaan Language Tidbits

blog ที่แล้ว ได้เล่ามาถึงการนมัสการปรึกษาพระราชประสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อสุนันท์ รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดเทพปูรณาราม ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรธรรมอีสานท่านหนึ่ง ได้ไปพบท่านแล้ว ก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากท่าน รวมถึงเกร็ดภาษาอีสานมากมาย ถ้าไม่บันทึกไว้ก็คงจะลืมเลือนหายไป

ก่อนอื่น ท่านเล่าว่าท่านหัดอ่านอักษรธรรมตั้งแต่ยังเป็นสามเณรด้วยตนเองโดยไม่มีใครสอน! โดยท่านได้เห็นคัมภีร์บาลีในใบลานที่เป็นบทสวดที่ท่านรู้จัก ท่านก็แกะตัวอักษรต่าง ๆ พร้อมกับจับหลักอักขรวิธีเอาเอง จนในที่สุดก็อ่านได้หมด นับเป็นวิธีเรียนที่น่าทึ่งจริง ๆ

ในส่วนของประเด็นต่าง ๆ ของอักษรธรรมที่เรียนถามท่านนั้น ท่านก็แนะนำมาโดยมิได้ฟันธงเลือกแบบใดแบบหนึ่ง แต่เน้นไปที่การสังเกตรายละเอียดที่ยังขาด เช่น ตัวสะกดแม่กกแบบใช้จุดคู่ใต้บรรทัด รูปร่างพยัญชนะบางตัวที่สัดส่วนเพี้ยนไป หรือรูปร่างแบบที่ท่านคิดว่าเป็นที่นิยมกว่า ซึ่งตรงนี้ก็น้อมรับนำมาปรับปรุงต่อไป

แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องอักษรธรรมซึ่งถือว่าสำคัญเหมือนกัน คือความรู้เรื่องภาษาอีสาน ผมพยายามจับประเด็นเท่าที่จำได้ (เพราะไม่ได้จดเลย) มาเป็นข้อ ๆ ดังนี้:

การสะกดคำอีสาน

ท่านเห็นว่า การสะกดคำอีสานด้วยอักษรไทยในปัจจุบันที่มักเขียนในรูปที่ถ่ายเสียงวรรณยุกต์ตามสำเนียงกรุงเทพฯ มาเรียบร้อยแล้ว เช่น เขียนคำที่หมายถึงลูกคนสุดท้องว่า "ลูกหล่า" แทนที่จะเขียนว่า "ลูกหล้า" แล้วค่อยผันวรรณยุกต์เวลาอ่านเอา เพราะคำว่า "หล่า" นั้น ถ้าอ่านด้วยสำเนียงอีสานจะผันวรรณยุกต์เป็น [ลา^] (เสียงสามัญสูง) ซึ่งแปลว่า "เจื่อน" เช่น "หน้าหล่า" [หน่า-ลา^] (เอก,สามัญสูง) แปลว่าหน้าเจื่อนหรือหน้าเสีย แต่ถ้าจะหมายถึงลูกคนสุดท้อง ต้องเขียนเป็น "ลูกหล้า" แล้วอ่านออกเสียงเป็น [ลูก_-หล่า] (โทต่ำ,เอก) เอา ซึ่งคำว่า "หล้า" นี้ จะตรงกับคำไทยกลางว่า "ล่า" ที่แปลว่าช้า เช่น "คือมาหล้าแท้" จะหมายถึง "ทำไมมาช้าจัง" และคำว่า "ลูกหล้า" ก็หมายถึง "ลูกคนล่า(สุด)" หรือลูกคนสุดท้องนั่นเอง

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่ผมเคย ตั้งข้อสังเกตไว้ พร้อม วิเคราะห์สำเนียงขอนแก่นเป็นตัวอย่าง โดยได้นำเสนอครั้งแรกใน Lang4Fun เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว จากนั้น เวลาเขียน blog ที่ Lang4Fun ผมก็ได้ใช้หลักการนี้มาตลอด โดยในระยะแรกผมจะเขียนคำอ่านกำกับไว้เผื่อผู้ที่ไม่คุ้นเคย แต่หลัง ๆ คิดเอาเองว่าผู้อ่านคงเริ่มคุ้นเคยแล้วก็ไม่ได้เขียนคำอ่านกำกับ ก็ปรากฏว่ามีผู้มาทักท้วงว่าเสียงไม่ถูกต้อง เช่น ในความเห็นท้ายคำว่า ไหง่ และ ดุ, ฮ้าย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ยังมีคนอีสานจำนวนมากที่เขียนคำอีสานแบบใส่สำเนียงอ่าน แทนที่จะเขียนรูปคำให้ผู้อ่านผันเอา ซึ่งการเขียนแบบใส่สำเนียงอ่านจะมีความลักลั่นหลายประการ ดังที่ผมได้อธิบายไปในบทความนั้น ซึ่งก็ปรากฏว่าหลวงพ่อท่านก็กังวลเรื่องเดียวกันนี้เหมือนกัน แต่ท่านคงพูดเรื่องนี้มานานแล้ว จากความสนใจในเรื่องภาษามาตลอดชีวิตของท่าน ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้รับแรงบันดาลใจจากผู้รู้ ช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นถูกต้องแล้ว (ครั้งแรกที่ได้พบความเห็นเช่นนี้จากผู้รู้ ก็คือ ความเห็นของครูวัฒน์ จากโรงเรียนสว่างวีระวงศ์ ในท้ายบทความที่ผมเขียน)

เสียง ญ และ ย

เมื่อได้พูดถึงเรื่องการสะกดและผันวรรณยุกต์อีสานแล้ว ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่ท่านจะพูดถึงเสียง ญ และ ย ที่มักจะสร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ที่ฝึกพูดภาษาอีสาน เพราะในภาษาอีสานนั้น นอกจากการออกเสียงนาสิกที่ต่างกันแล้ว พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ยังถือว่าอยู่คนละหมู่ในไตรยางศ์ ทำให้ผันวรรณยุกต์ต่างกันอีกด้วย

ในภาษาไทยเก่านั้น มีเสียงที่คล้ายกันอยู่สี่หน่วยเสียง คือ ญ, ย, หญ และ อย ซึ่งเดิมจะออกเสียงต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกันไปหมดเหมือนในปัจจุบัน ความจริงใน blog เรื่อง On Thai Old Language ผมควรจะได้เล่าเรื่องนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้เล่า กล่าวคือ เสียง ญ นั้นจะตรงกับ /ñ/ (เสียง ย + นาสิก), เสียง ย ตรงกับ /j/ (ย ปัจจุบัน), เสียง หญ ตรงกับ /hñ/ (เสียง ฮ ตามด้วย ย + นาสิก), เสียง อย ตรงกับ /Ɂj/ (อ ตามด้วย ย) แล้วต่อมาจึงกลืนเสียงเข้าด้วยกันหมดกลายเป็นเสียง ย /j/ แบบเดียว

สำหรับภาษาลาว/อีสานนั้น จะมีหน่วยเสียงต่างกันสองหน่วยเสียง คือ ญ กับ อย ซึ่งอักษรลาวจะแทนเสียง ญ ด้วย ຍ (ຍ ຍຸງ) และแทนเสียง อย ด้วย ຢ (ຢ ຢາ) โดย ຍ ຍຸງ จะมีเสียงออกจมูก และผันวรรณยุกต์เหมือนอักษรต่ำ ส่วน ຢ ຢາ จะไม่มีเสียงออกจมูก และผันวรรณยุกต์เหมือนอักษรกลาง

ท่านยกตัวอย่างชื่ออำเภอสองอำเภอ คือ "เชียงยืน" กับ "พระยืน" คำว่า "ยืน" ในทั้งสองชื่อนี้เป็นคนละคำ ออกเสียงต่างกัน และความหมายก็ต่างกันด้วย "ยืน" ใน "เชียงยืน" จะเป็นเสียง "ญืน" (ຍືນ, ออกเสียงว่า [ญื่น]) แปลว่ายาวนาน เหมือนในคำว่า "ยั่งยืน" ส่วน "ยืน" ใน "พระยืน" นั้น จะเป็นเสียง "อยืน" (ຢືນ, ออกเสียงว่า [หยื่น]) หมายถึงกิริยาเอาเท้าเหยียบพื้นตั้งตัวตรงขึ้นไป ซึ่งในภาษาไทยสมัยเก่าก็เขียนคำว่า "ยืน" คำหลังนี้เป็น "อยืน" เช่นกัน ก่อนที่จะกลืนเสียงเป็นเสียงเดียวกัน พร้อมกับเปลี่ยนตัวสะกดกลายเป็นคำพ้องทั้งรูปทั้งเสียงในปัจจุบัน

ภาษาไทยปัจจุบัน มีคำที่ใช้ อย เหลือเพียงสี่คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก แต่ในภาษาเก่าคงมีเยอะกว่านี้มาก ซึ่งอาจสืบประวัติได้จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในสำเนียงภาษาถิ่นต่าง ๆ นี่เอง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือชื่อต้นไม้สองชนิด คือต้นยางนากับต้นยางพารา ต้นยางนานั้น ใช้ ຍ ຍຸງ จึงเขียนเป็น "ต้นญาง" ออกเสียงว่า [ต้น_-ญ่าง] (โทต่ำ,โท+นาสิก) แต่ถ้าเป็นต้นยางพารา ใช้ ຢ ຢາ เขียนเป็น "ต้นยาง" หรือ "ต้นอยาง" ออกเสียงว่า [ต้น_-หย่าง] (โทต่ำ,เอก+ไม่นาสิก)

ตัวอย่างถัดมาอีก คือคำว่า "ยาย" ที่หมายถึงแม่ของแม่นั้น ใช้ ຍ ຍຸງ จึงเขียนเป็น "ญาย" ออกเสียงว่า [ญ่าย] แต่อีกคำคือ "ยาย" ที่หมายถึงกระจัดกระจาย หรือกระจายของออกจากกัน ใช้ ຢ ຢາ เขียนเป็น "ยาย" หรือ "อยาย" ออกเสียงว่า [หย่าย]

หมายเหตุ: เสียงอักษรกลางรูปสามัญในบางสำเนียง ไม่ได้ผันเป็นเสียงเอก แต่ใช้เสียงสามัญก็มี เช่น อฺยืน, อฺยาง, อฺยาย อาจจะออกเสียงเป็น [ยืน], [ยาง], [ยาย] ไปเลย ไม่ใช่ [หยื่น], [หย่าง], [หย่าย] เหมือนสำเนียงขอนแก่น

เกร็ดเบ็ตเดล็ด

  • ชื่อ "บ้านสงเปือย" นั้น บางคนพยายามจับแต่งไทยเป็น "บ้านสงฆ์เปลือย" ซึ่งผิดความหมายไปไกล ที่ถูกนั้น ควรรักษาคำเดิมไว้ คำว่า "สง" ในภาษาอีสานหมายถึงป่า ส่วน "เปือย" หมายถึงไม้ชนิดหนึ่งที่เปลือกลอกล่อนได้ (เปิดพจนานุกรมแล้ว หมายถึงต้นตะแบก) ดังนั้น "บ้านสงเปือย" จึงหมายถึง "บ้านป่าตะแบก"
  • ข้าวมื้อเช้านั้น อีสานเรียก "เข้างาย" (เข้า = ข้าว; งาย = เช้า) และจะมีคำขยายเพิ่มได้ ถ้า "งายเงย" จะหมายถึงกินข้าวเช้าสายกว่าเวลาปกติ แต่ถ้า "งายตาเหลือก" หมายถึงกินสายจนหิวข้าวตาลายหมดแล้ว
  • ทางเมืองเหนือ เรียกเณรว่าพระ เรียกพระว่าตุ๊ แต่ทางอีสาน เรียกพระว่าพระเหมือนภาษากลาง แต่จะเรียกเณรว่า "จั่ว" [จัว^]
  • "หลัว" [หลัว] หมายถึงไม้ฟืนขนาดเล็ก ที่เผาแล้วเหลือแต่ขี้เถ้า ไม่เป็นถ่าน เช่น หลัวไม้ไผ่
  • "ขี้ซี" [ขี่-ซี่] หมายถึงชันที่ใช้ยาชะลอมใส่น้ำ ซึ่งชะลอมที่ยาชันนี้เรียกว่า "คุ"
  • "กะบอง" [กะ-บ่อง] หมายถึงขี้ไต้ที่ห่อมัดเป็นท่อนพร้อมใช้ มีคัมภีร์ใบลานบางฉบับ จะจบเรื่องด้วยการบอกว่า กะบองจะหมดแล้ว ไม่มีไฟให้แสงสว่างแล้ว จึงขอจบเรื่องเพียงเท่านี้
  • "โพน" [โพ่น] หมายถึงจอมปลวกที่เป็นมูลดินขึ้นมา ซึ่งดินจอมปลวกนี้มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้งาม นาผืนไหนมีจอมปลวกมักเป็นที่ต้องการ ถ้าเป็นเนินดินที่ใหญ่หน่อยจะเรียก "โนน" [โน่น] แต่ถ้าเป็นเนินกว้างจะเรียก "มอ" [ม่อ]
  • ผญาทายปริศนา: อะไรเอ่ย ขี้ซ้างซอด ขี้มอดคา? (ใหญ่เหมือนขี้ช้างจะทะลุลอดได้ แต่ถ้าเล็กเหมือนขี้มอดจะทะลุไม่ได้)..... (เฉลย: ใยแมงมุม)
  • "กั้ว" [กั้ว_] หมายถึง รบกวน เช่น "อย่ามากั้วแถวนี้ ไปพู้นเลย"
  • "คั่ว" [คัว^] หมายถึง ควานหา เช่น "อย่าให้หนอนไปกั้ว แมงวันเข้าคั่ว" (อย่าให้หนอนเข้ามารบกวน จนแมลงวันบินควานไปทั่ว)
  • "บาย" [บ่าย] ที่หมายถึงลูบนั้น ในบางครั้งก็หมายถึงตีหรือกำราบ เช่น "กูสิบายมึงจั๊กบาด" หมายถึงจะตีให้ได้สักครั้ง

นี่บันทึกเท่าที่จำได้ ยังมีอีกมากที่จำมาไม่หมด เพราะตลอด 3-4 ชั่วโมงที่สนทนากับท่านนั้น ความรู้พรั่งพรูมาไม่หยุด ถ้ามีโอกาสไปกราบท่านอีกครั้งคงต้องเตรียมสมุดไปจด หรือเตรียมอัดเสียงท่านไว้เลย :-)

ส่งท้าย

เกี่ยวกับอักษรธรรมนั้น ท่านได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือการปรับใช้การเขียนบาลีแบบประพินทุในอักษรไทย กลับไปใช้กับอักษรธรรม เพื่อให้เขียนได้โดยไม่ต้องใช้ตัวเฟื้อง ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ

ต้องเท้าความนิดหนึ่ง ว่าสมัยก่อนนั้นจะไม่ใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี แต่จะใช้อักษรขอมหรืออักษรธรรมเท่านั้น ยกเว้นการเขียนแบบทับศัพท์หรือคำยืม ก็เหมือนกับการใช้ตัวโรมันเขียนภาษาอังกฤษแบบไม่ทับศัพท์ในปัจจุบันนั่นเอง ที่ไม่ใช้อักษรไทยก็เพราะอักษรไทยไม่มีตัวเฟื้อง เขียนพยัญชนะซ้อนตามแบบอักษรอินเดียไม่ได้ จนกระทั่งมีการริเริ่มใช้พินทุเพื่อประเชื่อมพยัญชนะซ้อนในสมัย ร.๕ เช่น คำว่า ปุปฺผา เป็นการใช้พินทุเชื่อมพยัญชนะซ้อน ปฺผ ของวรรคปะ ซึ่งถ้าเขียนด้วยอักษรอินเดีย จะต้องเขียน ผ ด้วยตัวเฟื้องหรือสังโยคซ้อนใต้ ป แต่อักษรไทยไม่มีตัวเฟื้อง ก็ใช้พินทุประที่ตำแหน่งเฟื้องไว้แทน เมื่อมีวิธีเขียนแบบนี้ ก็ทำให้เริ่มมีการใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตจนแพร่หลาย จนเข้าแทนที่อักษรขอมและอักษรธรรมในปัจจุบัน

ทีนี้ แนวคิดที่ท่านคิดเพิ่มเติม ก็คือนำหลักการประพินทุนี้ กลับไปใช้ในอักษรธรรม กลายเป็นการสร้างอักขรวิธีแบบใหม่สำหรับเขียนภาษาบาลี โดยเป็นอักษรธรรมแบบไม่มีตัวเฟื้อง ก็นับเป็นการริเริ่มที่น่าสนใจไม่น้อย

ป้ายกำกับ:

26 กุมภาพันธ์ 2554

Lao/Esaan Tham Script Issues

จากที่ได้เขียนถึง โครงการอักษรอีสาน ไป และได้ร่าง รายละเอียดโครงการ พร้อมกับสร้าง โครงการโคตรบูรณ์ที่ Sourceforge เพื่อดูแลและเผยแพร่ซอร์ส ก็ได้เริ่มทำฟอนต์อักษรธรรมอีสาน/ลาว โดยอาศัย ฟอนต์ของ อ.สานิตย์ โภคาพันธ์ เป็นจุดเริ่มต้น

ฟอนต์ของ อ.สานิตย์ นั้น รูปร่างตัวอักษรดูสวยงาม เพียงแต่ยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบยูนิโค้ด จึงเริ่มด้วยการคัดลอก glyph มาลงในช่องตารางยูนิโค้ด จากนั้นก็ปรับเส้นตัวอักษรให้สม่ำเสมอกัน แล้วจึงเริ่มมาพิจารณาเรื่องของอักขรวิธี ซึ่งผลล่าสุดก็คืออย่างนี้:

Lao/Esaan Tham Sample Text

ภาพนี้สร้างจากตัวอย่างข้อความที่เก็บแบบ visual order ซึ่งยังไม่ตรงตามมาตรฐานยูนิโค้ด เพราะเพียงต้องการทดสอบการจัดเรียงอักขระเท่านั้น ถ้าจะวาดข้อความที่อยู่ในลำดับที่ยูนิโค้ดกำหนด ก็จะต้องเพิ่มกฎการสลับลำดับให้เป็น visual order เสียก่อน

อย่างไรก็ดี เรื่องของอักขรวิธีก็ยังมีหลายประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากหลายตำราพูดต่างกัน ตัวอย่างเช่น:

  • ถ ฐ พ เฟื้อง ในอักษรล้านนาจะใช้ ฐ พ เฟื้องรูปเดียวกัน ส่วน ถ เฟื้องใช้เหมือนตัวเต็ม แต่สำหรับอักษรธรรมล้านช้าง จะแยกเป็นหลายตำรา โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เช่น:
    • อ.วัฒน ศรีสว่าง (อุบลราชธานี) แสดงไว้ในหน้า 5, 9 ว่า ถ เฟื้อง และ ฐ เฟื้อง มีรูปร่างเหมือนกัน แต่ต่างจาก พ เฟื้อง โดย ถ/ฐ เฟื้อง จะตวัดสั้น แต่ พ เฟื้อง จะตวัดหางตัดเส้นตั้งเลยออกไปทางขวา (อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ อ.โสรัจ นามอ่อน)
    • พระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) (ส.ป.ป. ลาว) แสดงไว้ในหน้า ๔ (PDF หน้า 19) ว่า ถ ฐ พ เฟื้องนั้น ต่างกันทั้งสามตัว โดย ถ เฟื้องตวัดน้อยที่สุดแต่มีหัวกลมทางขวา, ฐ เฟื้องไม่มีหัวและตวัดงอเข้ามาหน่อย และ พ เฟื้องตวัดตัดเส้นตั้งเลยไปทางขวาเหมือนของ อ.วัฒน
    • โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้ ถ ฐ พ เฟื้องเป็นรูปเดียวกันทั้งหมด โดยรูปร่างเหมือนกับ ฐ เฟื้อง ของสองเอกสารข้างต้น
    • หนังสือ อักษรไทยโบราณ ของ อ.ธวัช ปุณโณทก (สนพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2549) แสดงไว้ในหน้า 230 เป็นลายมือเขียนหวัด ซึ่งตัดสินลำบาก แต่ดูเหมือนจะเป็นมติเดียวกับ อ.วัฒน
  • นอกจากเรื่องรูปร่างที่มีหลายมติแล้ว เรื่องอักขรวิธีของ ถ ฐ พ เฟื้อง ก็พบว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันไปอีก โดยสังเกตได้จากเอกสารของ อ.วัฒน และพระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) คือ:
    • อ.วัฒน แสดงไว้ในหน้า 11 ว่า ฐ เฟื้อง จะใช้รูปเฟื้องก็ต่อเมื่อซ้อนอยู่ในพยัญชนะซ้อน ฏฺฐ เท่านั้น ถ้าอยู่ใน ณฺฐ จะใช้รูปเหมือนรูปเต็ม; และ ถ เฟื้อง ก็ทำนองเดียวกัน คือจะใช้รูปเฟื้องก็ต่อเมื่ออยู่ในพยัญชนะซ้อน ตฺถ เท่านั้น ถ้าอยู่ใน นฺถ จะใช้รูปเหมือนรูปเต็ม; ส่วน พ เฟื้องนั้น ใช้รูปเฟื้องเสมอทุกกรณี
    • พระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) ก็แสดงไว้ทำนองเดียวกันในหน้า ๓๒ (PDF หน้า 47) แต่แตกต่างในกรณี ฐ เฟื้อง โดยจะใช้รูปเฟื้องทุกกรณี ไม่ว่าจะอยู่ใน ฏฺฐ หรือ ณฺฐ จึงเหลือกรณีที่ใช้สองรูปเพียง ถ เฟื้องเท่านั้น
  • เอกสารของพระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) แสดงไว้ในหน้า ๓ (PDF หน้า 18) ว่า ช เฟื้อง ใช้รูปคล้ายสระออ ในขณะที่เอกสารอื่นไม่ปรากฏตัวเฟื้องนี้
  • ใน บล็อคอักขระ Tai Tham ของยูนิโค้ด ยังมีเครื่องหมายวรรคตอนที่หาข้อมูลไม่ได้ ว่าอักษรธรรมล้านช้างใช้รูปไหน คือ เวียง, เวียงวาก, สวรรค์, เกี้ยว, หอย, ดอกไม้, ณ ตะแคง, คั่น, คั่นคู่, ซัดคั่น, ซัดคั่นคู่, หาง, ช้าง

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าจะปรับใช้อักษรธรรมในแบบร่วมสมัย ก็คงต้องเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่งเป็นบรรทัดฐาน แต่ผมคงไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะประสบการณ์น้อยเกินไป แต่ก็ได้พยายามวินิจฉัยเท่าที่ปัญญาจะมีไปแล้ว แต่ก็ควรปรึกษาผู้รู้เพื่อยืนยันให้แน่ใจอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องหมายวรรคตอนที่ผมไม่มีข้อมูลเลย

ท่านแรกที่ได้ไปปรึกษาคือ พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร ป.ธ.๗ พธ.บ.) รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดเทพปูรณาราม ที่ปรึกษารองอธิการบดี ม.มจร. วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เรื่องอักษรธรรมแล้ว ยังได้เกร็ดความรู้ภาษาอีสานอีกมากมาย ไว้เขียนต่อใน blog หน้า

Update (2011-02-28 18:20+0700): ซ่อมรูปภาพที่เสียเนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บรูปดาวน์อยู่

ป้ายกำกับ: ,

04 กุมภาพันธ์ 2554

On Thai Old Language

ได้อ่านเกี่ยวกับภาษาไทยโบราณ ได้พูดไปบ้างใน Facebook ก็สมควรบันทึกไว้บน WWW ที่เป็นสาธารณะและสืบค้นได้ด้วย

ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา การศึกษาที่มีก็ไม่ได้เป็นระบบระเบียบ รวมทั้งท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันทั่วถึงอย่างทุกวันนี้ ภาษาที่ใช้ในถิ่นต่าง ๆ จึงหลากหลาย การบันทึกจดจารก็คงไม่ได้เป็นระบบแบบแผนเหมือนทุกวันนี้ แต่ความจำเป็นที่ต้องสื่อสารกันให้รู้เรื่อง ก็ทำให้ภาษายังคงมีระเบียบบางอย่างกำกับอยู่บ้าง การแปรเปลี่ยนของคำจึงเป็นการเปลี่ยนอย่างช้า ๆ ตามกาลเวลา หาใช่ด้วยความจงใจ

ได้อ่านหนังสือ วิวัฒนาการของภาษาไทย โดย ดร.ราตรี ธันวารชร สนพ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้ศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยสมัยสุโขทัยกับภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีประเด็นน่าสนใจมากมาย คัดมาเพียงบางส่วนดังนี้:

พยัญชนะ ฃ ฅ

พยัญชนะ ฃ และ ฅ ปัจจุบันไม่มีที่ใช้แล้ว แม้จะมีผู้พยายามรื้อฟื้นกลับมาใช้ โดยส่วนใหญ่จะเป็น ฅ โดยใช้สะกดคำว่า ฅน แต่ทราบหรือไม่ว่าคำว่า คน นี้ ไม่เคยสะกดด้วยพยัญชนะ ฅ มาก่อนเลยในอดีต

สมัยก่อน เสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ น่าจะออกเสียงต่างจาก ข และ ค ที่รับมาจากภาษาบาลีผ่านทางเขมร โดย ดร. ฟังกวย ลี (李方桂) นักภาษาศาสตร์ชาวจีนที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาภาษาตระกูลไทถิ่นต่าง ๆ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภาษาไทบางถิ่นยังคงออกเสียง ฃ ต่างจาก ข และ ฅ ต่างจาก ค เช่น ไทขาว, ไทลื้อ, ไทไต้คง, ไทลุงโจว และเสียง ฃ กับ ฅ เป็นเสียงภาษาไทยแท้ที่ไม่มีในบาลีสันสกฤต จึงต้องมีอักษรเติมมาช่วยเขียน (ในทำนองเดียวกับ ฎ ด บ ฝ ฟ)

ดร. ฟังกวย ลี จัดเสียงพยัญชนะทั้งสี่ดังนี้:

  • ข /kh/ เสียงกัก ไม่ก้อง มีลม เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
  • ฃ /x/ เสียงเสียดแทรก ไม่ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
  • ค /g/ เสียงกัก ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
  • ฅ /ɣ/ เสียงเสียดแทรก ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน

บทความจากราชบัณฑิตยสถาน อ้างถึงบทความของ ศ.ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ว่าเสียง ฃ และ ฅ นั้น เป็นเสียงที่เกิดลึกเข้าไปหลังเพดานอ่อน คือลึกกว่า ข กับ ค ที่โคนลิ้นยังแตะแค่ที่เพดานอ่อน (ลองออกเสียงดูคงคล้ายเสียงขากเสลด)

คำที่สะกดด้วย ฃ ในสมัยสุโขทัย ได้แก่ ฃึ้น เฃ้า(ย้ายไปข้างใน) ฃุน ฃาย ฃอ(ตะขอ) ฃ้า(=ฆ่า เป็นคนละคำกับ ข้า ที่แปลว่าผู้อยู่ใต้ปกครอง) หมากฃาม(มะขาม) ฃับ(ร้อง) เฃา(ภูเขา) ฃวา แฃวน

คำที่สะกดด้วย ฅ ในสมัยสุโขทัย ได้แก่ ฅำ(เวียงคำ) ฅุ้ม แฅว ฅวาม ฅอ ฅ้อน ฅา(ขวางอยู่) ฅาบ(เวลา) ฅืน(ค่ำ)

สำหรับคำว่า เฃ้า (ย้ายไปข้างใน) นี้ ถ้าเขียนด้วย ข เป็น เข้า ในสมัยก่อนจะหมายถึงคำว่า ข้าว ของภาษาปัจจุบัน ต่อมามีการยืดเสียงสระออกเป็น ข้าว ดังนั้น เมื่อเลิกใช้ ฃ แล้วสะกด เฃ้า เป็น เข้า แทน จึงไม่กลายเป็นคำพ้องรูป

คำว่า ฃ้า (ทำให้ตาย) ก็คล้ายกัน เป็นคนละคำกับ ข้า ที่หมายถึงผู้อยู่ใต้ปกครอง พอเลิกใช้ ฃ คำนี้ก็เปลี่ยนมาสะกดด้วย ฆ เป็น ฆ่า แทน

คำว่า ฃับ จะใช้กับการขับร้อง แต่ถ้าใช้ ข สะกดเป็น ขับ จะหมายถึงการขับไล่

เสียง ฃ และ ฅ คงกลืนหายไปกับเสียง ข และ ค (ซึ่งเดิม ข กับ ค ก็ออกเสียงต่างกัน แต่ก็กลืนหายเข้าด้วยกันเหมือนกัน) แล้วก็ค่อย ๆ ใช้น้อยลง ๆ จนกระทั่งถูกตัดทิ้งไปสมัยสร้างพิมพ์ดีดแล้วปุ่มพิมพ์ดีดมีไม่พอ ทำให้ถูกยกเลิกไปกลาย ๆ

นอกจากนี้ เสียงพยัญชนะอื่น ๆ ที่เราเห็นว่าออกเสียงเหมือนกัน เช่น กลุ่ม {ณ-, หน-, น-} หรือ {อย-, ย-, ญ-}, {ฎ-, ต-} เมื่อก่อนก็ออกเสียงต่างกัน จนกระทั่งเกิดการกลืนเสียงเข้าด้วยกัน กลายเป็นภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเสียง ร อาจจะถูกกลืนเข้ากับเสียง ล ด้วย การกลืนเสียงเหล่านี้ทำให้เราคิดว่าพยัญชนะมีซ้ำซ้อนหลายชุด แต่ถ้าได้ศึกษาภาษาไทถิ่นต่าง ๆ โดยละเอียด จะพบว่าในบางถิ่นทุกวันนี้ก็ยังออกเสียงพยัญชนะเหล่านี้ต่างกัน เช่น กรณีเสียง ฃ ฅ ในไทขาวของเวียดนาม, เสียง ญ นาสิกในภาษาอีสาน เป็นต้น

ไม้ม้วนกับไม้มลาย

ไม่ใช่แค่พยัญชนะ สระก็มีเสียงที่ปัจจุบันซ้ำซ้อนกัน คือ ไม้ม้วนกับไม้มลาย แต่จากการศึกษาภาษาไทถิ่นต่าง ๆ พบว่าในบางถิ่นยังออกเสียงสระสองตัวนี้ต่างกัน จึงทำให้สันนิษฐานว่าภาษาไทยสมัยสุโขทัยก็อาจออกเสียงสระสองตัวนี้ต่างกันด้วย

ไม้มลายนั้น เป็นสระบาลีสันสกฤต ภาษาไททุกถิ่นจะออกเสียงเป็น ไอ /ai/ หรือ /aj/ เหมือนกันหมด แต่ไม้ม้วนไม่มีในบาลีสันสกฤต เป็นสระที่ประดิษฐ์เพิ่มเพื่อใช้แทนเสียงสระของคำไทยแท้ ภาษาไทยบางถิ่นยังคงออกเสียงต่างจากไม้มลาย เช่น ไทใหญ่ ออกเสียงเป็น /aaɯ/ (อา-อือ) ไทดำ ออกเสียงเป็น /əɯ/ (เออ-อือ) และผู้ไท ออกเสียงเป็น /ɤɤ/ (เออ)

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนเสียงสระในลักษณะต่าง ๆ อีก เช่น:

  • ญีง เป็น หญิง
  • ญีน เป็น ยิน
  • อย้าว เป็น เหย้า
  • พู่ง เป็น พุ่ง
  • เข้า เป็น ข้าว
  • จี่ง เป็น จึ่ง
  • แล้ เป็น ละ
  • (แม่น้ำ)ของ เป็น โขง
  • โนน เป็น นอน
  • โสง เป็น สอง
  • โอก เป็น ออก
  • สูด เป็น สวด
  • ช่อย เป็น ช่วย
  • หลวก เป็น หลัก
  • เงือน เป็น เงิน
  • เถิง เป็น ถึง
  • เสือก เป็น เสิก และเป็น ศึก

ซึ่งคำเหล่านี้ จะพบว่ามีหลายคำที่ภาษาถิ่นยังคงรักษาเสียงเดิมไว้ เช่น แม่ญีง, เข้า, ช่อย (ซ่อย) บางคำก็มีใช้ทั้งสองรูป เช่น เพิ่ง กับ พึ่ง

ความหมายของคำ

คำบางคำก็เพี้ยนความหมายจากเดิม เช่น:

  • แกล้ง เดิมหมายถึง ตั้งใจทำ เช่น งามฎั่งแกล้งแฏ่ง หมายถึงงานเหมือนตั้งใจประดิดประดอยแต่งไว้ ปัจจุบันหมายถึง จงใจทำแบบไม่จริงใจ เช่น แกล้งทำเป็นดีด้วย
  • แพ้ เดิมหมายถึง ชนะ ส่วนคำที่แปลว่า ไม่ชนะ จะใช้คำว่า พ่าย เช่น ตนกูพู่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี

ไว้เจออะไรสนุก ๆ แล้วจะมาบันทึกอีก :-)

Update (2011-02-04 16:14+0700): แก้คำอธิบายเรื่อง แกล้ง ให้ชัดเจนขึ้น

ป้ายกำกับ:

hacker emblem