Theppitak's blog

My personal blog.

29 สิงหาคม 2551

Thai Fonts Siampradesh (non-free)

ผ่านไปอีกเดือนครึ่ง หลังจาก blog เรื่อง DIP-SIPA Fonts License ทุกอย่างยังเงียบสนิท ก็ยังไม่ถือว่านาน แต่ผมเกรงว่ามันจะเนิ่นช้าไปเรื่อย ๆ ก็เลยตัดสินใจ update deb ของฟอนต์ที่เปลี่ยนชื่อ โดยย้ายเข้าใน section non-free ไว้ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของ license ไว้ก่อน เพื่อสามารถผลักดันเข้า Debian ได้ทุกเมื่อ (คิดว่าคงเป็นหลัง Lenny) ถ้าเงื่อนไข license มีการเปลี่ยนแปลงค่อยมาว่ากันอีกที

ตอนนี้ ยังไม่ ITP แต่เผยแพร่ใน LTN APT และ Debianclub repository ไปพลางก่อน คุณสามารถ apt-get จากแหล่งดังกล่าวได้เลย ภายใต้ชื่อ "ttf-thai-siampradesh"

ฟอนต์มีการเปลี่ยนชื่อก่อนดัดแปลง ตามเงื่อนไขของ license โดยไม่ใช้ชื่อ DIP/SIPA เลย เพื่อเลี่ยงการถูกตีความว่าใช้ชื่อในการโฆษณา ส่วนฟอนต์แต่ละตัวในชุด มีการเปลี่ยนชื่อไว้นานแล้วหลังจากหารือกับเพื่อนฝูงบางคน ขอบันทึกการเปลี่ยนชื่อไว้ที่นี่ (ดูรูปร่างฟอนต์ประกอบได้ที่ ฟ๐นต์.คอม):

TH Krub (ครับ) --> ทศกัณฐ์ (Thotsakan)

ตัวอักษรดูคล้ายตัวเขียนธรรมชาติมากกว่าตัวพิมพ์ที่บรรจง และมีจุดหักแนวฉากที่โค้งมนหลายจุด ชวนให้นึกถึงคางและรูปหน้าของโขนทศกัณฐ์

TH Niramit AS (นิรมิต) --> รามา (Rama)

ความประดิดประดอยของลายเส้น คงไม่มีใครเหมาะไปกว่าตัวพระของรามเกียรติ์ผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์

TH Kodchasan (คชสาร) --> สินสมุทร (Sinsamut)

ตัวละครที่เป็นเด็ก จำต้องยืมจากเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งมีเด็กเด่น ๆ อยู่

ลายมือสำหรับเด็กมีสองฟอนต์ คือคชสารและ ด.ญ. มะลิ ป. 6 โดยคชสารนี้ดูเป็นระเบียบกว่า เลยยกให้สินสมุทรผู้พี่ รวมทั้งพละกำลังที่ผลักหินปิดปากถ้ำได้ ก็ทำให้สินสมุทรมาแทนคชสารได้อย่างเหมาะเจาะ

TH Sarabun PSK (สารบรรณ) --> ลักษมัณ (Laksaman)

ฟอนต์ที่ดูเรียบ ๆ ไม่มีจุดเด่น แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้ใน text body ได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับพระรองที่แม้บทจะไม่เด่นเท่าพระราม แต่ก็เป็นกำลังสำคัญของกองทัพอย่างพระลักษมณ์ แต่ใช้เสียงอ่านที่กระเดียดไปทางสันสกฤตเล็กน้อย เพื่อให้ระบุตัวตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

TH K2D July8 (8 กรกฎา) --> สีดา (Sida)

ความโค้งมนเป็นวงรีของอักษร บวกกับเส้นตวัดปลายหางที่ชดช้อย แทนด้วยวงหน้าและชฎาของนางสีดาได้

TH Mali Grade 6 (ด.ญ. มะลิ ป. 6) --> สุดสาคร (Sutsakhorn)

ได้อธิบายไปแล้วในฟอนต์คชสาร สุดสาครน่าจะเป็นตัวละครเด็กที่เด่นที่สุดแล้วในวรรณคดีไทย

TH Chakra Petch (จักรเพชร) --> รามสูร (Ramasun)

ความจริง รูปทรงแปดเหลี่ยมกับเส้นตรง ชวนให้นึกถึงลายวงจรแผ่นปรินท์มากที่สุด แต่วรรณคดีไทยไม่มีแผ่นปรินท์ เลยเปลี่ยนมามองรูปแปดเหลี่ยมเป็นเหลี่ยมของเพชร (ตามชื่อเดิมของฟอนต์) แล้วโยงไปถึงแก้วในมือของนางเมขลา ที่รามสูรเห็นแล้วต้องไล่ตาม

ไม่ใช้ชื่อ "เมขลา" เพราะฟอนต์มีลักษณะแข็ง ไม่เหมาะกับสตรีเพศ แต่น่าจะเข้ากับรามสูร อสูรผู้ตามล่าแก้วมณีมากกว่า

TH Bai Jamjuree CP (ใบจามจุรี) --> ละเวง (Laweng)

ฟอนต์มีลักษณะเรียบง่ายแต่แฝงความโมเดิร์นนิดหน่อย เลยขอยืมชื่อนางฝรั่งลังกาจากเรื่องพระอภัยมณีมาใช้

TH KoHo (กอ-ฮอ) --> อภัยมณี (Aphaimanee)

หัวตัวอักษรเหมือนตัวโน้ตดนตรี บวกกับบุคลิกฟอนต์ที่ดูลำลอง หัวอักษรดูเหมือนเต้นไปเต้นมาในข้อความ เลยให้ชื่อนักดนตรีเอกแห่งวรรณคดีไทยแก่ฟอนต์นี้ไป

TH Fah Kwang (ฟ้ากว้าง) --> หนุมาน (Hanuman)

ฟอนต์ตัวใหญ่ หัวโต ดูอหังการ ความจริงจะให้ชื่อยักษ์สักตนก็ได้ แต่หัวอักษรที่โตทำให้ฟอนต์มีอารมณ์ทะเล้นหน่อย ๆ ทั้งกำแหงหนุมาน ก็สามารถแปลงกายให้ใหญ่โตจนอมพลับพลาหรือทอดกายเป็นสะพานให้กองทัพข้ามไปได้ ฟอนต์นี้ก็เลยได้ชื่อขุนกระบี่ไป

เรื่องชื่อ ได้ทำตาม license แล้ว แต่ตัว license หวังว่าจะแก้ให้หลุดจาก non-free ได้สักวัน :-)

Update (22:27): แก้การแบ่งวรรคตอนที่เพี้ยนเพราะการตัดแปะจากเมล

ป้ายกำกับ:

28 สิงหาคม 2551

Mindmapping for GNOME

อยากได้มานานแล้ว โปรแกรมสำหรับสร้าง mindmap บน GNOME ก่อนหน้านี้ เคยเขียนถึง VYM ไปแล้ว ว่าเป็นตัวที่สร้าง mindmap ได้ใกล้เคียงแนวคิดของ Tony Buzan มากที่สุด ส่วนโปรแกรมยอดนิยมอย่าง FreeMind นั้น รูปแบบมันตายตัวเกินไป ไม่เอื้อต่อการจดจำเท่าไร

แล้วก็ไปเจอ blog ของ sothorn จาก Planet TLWG พูดถึง blog เรื่อง 5 โปรแกรมสร้าง mindmap มี:

มาติดใจเอาตัวสุดท้าย คือ CharTr ซึ่งดูจะสร้าง mindmap ได้ใกล้เคียง VYM ซึ่งอันที่จริง ก็มีทั้ง VYM และ Vim บวกกัน คือสร้าง mindmap ได้แบบ VYM แต่ใช้คำสั่ง vi ของ Vim ว้าว..

CharTr

แทรกรูป แทรกเสียงได้ด้วยนะ แถม export เป็น png, pdf ได้ ใช้ LaTeX สร้างสมการได้ด้วย

แต่ยังไม่สามารถแนะนำให้ชาวบ้านใช้ได้ เพราะบั๊กยังเยอะอยู่ ใช้งานจริงข้อมูลเจ๊งได้ง่าย ๆ แต่ก็ถือว่ามีตัวลุ้นละ (เดิมคิดว่าว่างจากงานต่าง ๆ แล้ว จะหาเวลาแกะ VYM แล้วหาทาง port มา GTK+ อยู่นะนี่ ตอนนี้ลุ้น CharTr ดีกว่า)

ป้ายกำกับ: ,

15 สิงหาคม 2551

Translation Olympic

เชียร์โอลิมปิกไป แปล GNOME 2.24 ไป เผลอมอง ชาร์ตอันดับแปล เป็นอันดับเหรียญไปได้

อันดับเหรียญโอลิมปิก ของไทยขณะ blog อยู่อันดับ 24 แต่อันดับแปล GNOME 2.24 อยู่อันดับ 33 โดยเลื่อนอันดับขึ้นมานับจากตอน ประกาศเริ่มแปล ประมาณ 3 อันดับได้ ผลงานหลักมาจากการแปล anjuta ของคุณอาคม พันกว่าข้อความ สปีดการไต่อันดับขนาดนี้ ถ้าให้ปู่โสมอย่างผมโซโล่อย่างหลาย ๆ รุ่นที่ผ่านมา คงไม่สามารถไต่ได้เร็วขนาดนี้

ตอนนี้ มีทีมที่เราไล่กวดอยู่ 2 ทีมหลัก ๆ คือภาษาปัญจาบีและภาษาจีนกลาง ล่าสุด ปัญจาบีปั่นแซงจีนกลางไปเรียบร้อย ตอนนี้เราก็กำลังแตะหลังแตะไหล่ภาษาจีนกลางอยู่

ป้ายกำกับ: ,

14 สิงหาคม 2551

Drupal problems in Debian

ก่อนที่ blog จะกลายเป็น blog วิชาประวัติศาสตร์-วรรณคดีไปเสีย ขอแทรกเรื่องคอมพิวเตอร์บ้าง

ผมเพิ่งพบว่า แพกเกจ drupal5 ใน Debian มีปัญหาเรื่องการจัดการ cron เอาเมื่อมาสังเกตพบว่า news aggregator ต่าง ๆ ใน debianclub มันหยุดขยับมาพักใหญ่ ๆ เลยหาสาเหตุดู ก็พบว่ามีบั๊กใน cron.sh ที่แพกเกจ debian เตรียมมาให้ ก็เลยแก้สคริปต์ให้มันทำงานผ่านไปก่อน พอเข้าไปหา bug report ถึงได้พบว่ามีรายงานใน Debian #494208 ไว้อยู่แล้ว แต่ severity เป็น minor เลยจัดการ confirm แล้วก็จิ๊กเอาสคริปต์ที่เสนอในบั๊กนั้นมาลองแทนตัวที่ตัวเองแก้ ก็พบว่าสคริปต์เขาตรวจสอบถ้วนทั่วกว่า สะอาดกว่า แล้วก็ทำงานได้ถูกต้องเหมือนกัน ก็เลยใช้ฉบับของเขาแทนซะเลย

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ก็เลยรายงาน ปัญหา sessions table ที่กำธรเคยพบเมื่อปีที่แล้วด้วยเลย ตอนนั้นผมถามเขาว่าไม่ file bug เลยเหรอ เขาก็ดูลังเล จนผ่านมาปีหนึ่ง รอไม่ไหวละ เลยถือวิสาสะรายงานให้ (Debian #495027) โดยอ้างอิงมาที่ blog ของเขา

เกี่ยวกับ Drupal บน Debian ก็คอยลุ้นว่าเมื่อไรจะมีแพกเกจ drupal6 ก็ไปพบ Debian #465833 เป็น wishlist ที่ pending อยู่ ซึ่งหมายความว่า อาจเข้า sid เร็ว ๆ นี้ แต่คงไม่ทัน lenny ซึ่ง ประกาศ freeze ไปแล้ว อาจจะอยู่ใน lenny+1 แทน

ปล. ที่แน่ ๆ abiword 2.6 ที่เคยลุ้น นั้น ทัน lenny อยู่ครับ :-)

ป้ายกำกับ: , ,

09 สิงหาคม 2551

Beijing 2008

ก่อนจะเขียนเรื่องพม่าต่อ คั่นด้วยเรื่องพิธีเปิดโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 (วิดีโอ) เสียหน่อย

การแสดงในพิธีเปิด นอกจากเทคนิคตระการตา คนแสดงมหาศาลแล้ว เรื่องเนื้อหาก็ทำได้เยี่ยมไม่แพ้กัน คือดึงเอา "กึ๋น" ของอารยธรรมจีนออกมาอวดได้อย่างน่าดู กลมกลืนกับโลกสมัยใหม่

เริ่มจากเรื่อง สี่ประดิษฐ์ ที่คนจีนช่วยบุกเบิกอารยธรรมของโลก คือ กระดาษ การพิมพ์ เข็มทิศ และดินปืน ทั้งสี่อย่างนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่จีน ก่อนจะแพร่หลายเข้าสู่วัฒนธรรมตะวันตกผ่านเส้นทางสายไหม และเทคโนโลยีการเดินเรือของจีน ซึ่งล้ำหน้าอารยธรรมตะวันตกในขณะนั้นไปหลายช่วงตัว

สิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ คือ เข็มทิศ โดยในยุคเริ่มแรกใช้ในการสงครามในรูปของ รถชี้ทิศใต้ มีบันทึกตำนานว่าตั้งแต่สมัยหวงตี้ (อึ่งตี่ - พระเจ้าเหลือง) ปฐมกษัตริย์จีน ก็มีการใช้รถชี้ทิศในการสงคราม และในสมัยฮั่นตะวันออก จางเหิงได้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ก่อนจะหายสาบสูญเมื่อเกิดจลาจลสามก๊ก แต่บันทึกประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการประดิษฐ์รถชี้ทิศใต้ คือการประดิษฐ์ของ หม่าจวิน วิศวกรแห่งแคว้นเว่ยในยุคสามก๊ก ตามบัญชาของเว่ยหมิงตี้ (โจยอย) หลังจากมีบัณฑิตสองคนโต้เถียงกันเรื่องความเป็นไปได้ของรถชี้ทิศ ซึ่งหม่าจวินทำได้สำเร็จ แต่รถชี้ทิศของหม่าจวินไม่ได้ใช้แม่เหล็กในการชี้ทิศ แต่ใช้ระบบ differential gear มาชดเชยการหมุนตัวของรถ ทำให้เข็มชี้ไปในทิศทางเดิมตลอด แต่ต่อมาก็พบความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากความเป็นกลไก และในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ นักวิทยาศาสตร์ จู่ชงจือ จึงได้ปรับปรุงรถชี้ทิศให้ชี้ทิศอย่างแม่นยำกว่าเดิมมาก แม้จะหมุนไปมาสักกี่ทิศก็ตาม

ส่วนเรื่องการใช้แม่เหล็กนั้น มีการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในเอกสารของจีนในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตศักราช เกี่ยวกับหินแม่เหล็กที่ดูดเหล็ก และมีเอกสารในสมัยราชวงศ์ฮั่นโดย หวังชง เกี่ยวกับแม่เหล็กและการสร้างเข็มทิศในรูปของช้อนที่ด้ามชี้ไปทางทิศใต้เสมอ และเอกสารในราชวงศ์ซ่งกล่าวถึง "ปลาที่หันไปทางใต้" โดยเป็นเข็มทิศแบบลอยน้ำ

แต่เข็มทิศ เมื่อนำมาใช้กับการเดินทางทางบก ก็ไม่ได้มีประโยชน์สูงเท่ากับเมื่อนำมาใช้ทางน้ำ มีบันทึกในสมัยราชวงศ์ซ่งเป็นอย่างช้า เกี่ยวกับการใช้เข็มทิศเดินเรือของจีน โดย จู่อู บันทึกไว้ว่า นักเดินเรือรู้ภูมิศาสตร์ เวลากลางคืนจะดูดาว เวลากลางวันดูดวงอาทิตย์ แต่ตอนที่มืดและเต็มไปด้วยเมฆหมอก ก็จะดูเข็มทิศแทน

ดินปืน นั้น ไม่พบประวัติว่าใครเป็นผู้ค้นพบ แต่สันนิษฐานว่าคงเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ ดินปืนมีประวัติผูกพันกับประทัดและเทศกาลปีใหม่ของจีน โดยมีตำนานว่า ในสมัยโบราณมีตัวประหลาดบนภูเขา เรียกว่า ซานเซียว ลงมาขโมยของกินชาวบ้าน และทำให้เกิดความเจ็บป่วย และชาวบ้านก็พบโดยบังเอิญว่าซานเซียวกลัวไฟและเสียงดัง เมื่อมีกระบอกไม้ไผ่ในกองไฟระเบิดขึ้น จึงได้เป็นวิธีขับไล่ซานเซียวด้วยการจุดระเบิดไม้ไผ่ แล้วต่อมาก็อัดดินปืนให้ระเบิดง่ายเข้า กลายเป็นที่มาของประทัด โดยการจุดประทัดไล่ซานเซียวประจำปีก็กลายมาเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน

ส่วน กระดาษ เป็นที่ยอมรับกันว่า ไช่หลุน ขันทีในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้คิดวิธีทำกระดาษโดยอาศัยเศษผ้าและเยื่อไม้เป็นครั้งแรก แต่ก็มีการพบหลักฐานเร็ว ๆ นี้ที่บ่งชี้ว่าจีนมีการใช้กระดาษก่อนหน้าการประดิษฐ์ของไช่หลุนแล้วถึง 100 ปี

ก่อนที่จะมีกระดาษนั้น ชาวจีนเขียนหนังสือลงบนกระดูกหรือไม้ไผ่ที่ผูกติดกันเป็นแพ ซึ่งมีน้ำหนักและกินเนื้อที่มาก และก็มีบางกรณีที่เขียนลงบนผ้าไหม ซึ่งแพงเกินไป การประดิษฐ์กระดาษ ทำให้เกิดการปฏิวัติการเขียนของจีน รวมทั้งเกิดศิลปะจากกระดาษในรูปต่าง ๆ เช่น การห่อสิ่งของ การพับกระดาษ

ส่วน การพิมพ์ นั้น ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย โดยใช้การแกะไม้เป็นแม่พิมพ์ เป็นการปฏิวัติการทำเอกสารครั้งสำคัญ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ปี้เซิง ราษฎรคนหนึ่งได้คิดวิธีพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ โดยแกะดินเหนียวเป็นตัวอักษรเป็นตัว ๆ นำไปเผาไฟให้แข็ง จากนั้นก็เตรียมแผ่นเหล็กที่มีกรอบสี่ด้าน ทายางสนและผงถ่าน เมื่อจะพิมพ์ก็เอาอักษรไปเรียง แล้วลนไฟให้ยางสนละลาย จากนั้นใช้กระดานแผ่นเรียบกดแม่พิมพ์ลงไป ทำให้ตัวพิมพ์ทุกตัวเรียบเสมอกัน ได้เป็นแท่นพิมพ์ พอพิมพ์เสร็จจะเลิกใช้ ก็เอาไปลนไฟอีกครั้งให้ยางสนละลาย เอามือลูบตัวพิมพ์ก็หลุดออกง่ายดาย ซึ่งการใช้ดินเหนียวดีกว่าใช้ไม้ตรงที่ได้ความแข็งของตัวพิมพ์สม่ำเสมอกว่า ไม่มีปัญหาการบวมของไม้ และไม่ติดกับยางสนแน่นจนแกะลำบากเหมือนเนื้อไม้

สี่ประดิษฐ์นี้ เป็นสิ่งที่คนจีนคัดสรรแล้ว ว่าเป็น contribution ที่สำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์โลก ยังไม่นับรวมสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายของจีนที่แพร่หลายสู่โลกตะวันตก เช่น เครื่องกระเบื้อง ลูกคิด หลักปรัชญาเต๋าและขงจื๊อ หรือกระทั่งกำลังทหารของเจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หยวนของจีน ซึ่งเป็นชาวมองโกล

ถ้าจะนับ "กึ๋น" ของจีนให้หมด ก็ยังมีเรื่องที่อาจจะไม่ได้แพร่หลายไปถึง เช่น เรื่องคณิตศาสตร์จีนโบราณ ที่มีความก้าวหน้ากว่าตะวันตกในสมัยเดียวกัน (จัตุรัสกล, สามเหลี่ยมปาสคาล, การคำนวณค่า pi ฯลฯ) หรือจะเป็นความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ การตรวจวัดแผ่นดินไหว ฯลฯ รวมถึงเรื่องที่ยังเป็นที่ถกเถียง ว่าชาวตะวันตกได้รับการถ่ายทอดจากชาวจีนหรือไม่ คือเรื่องแผนที่โลกและเทคโนโลยีการเดินเรือระยะไกล ซึ่งกองเรือของ เจิ้งเหอ เคยใช้ในการเดินทางทั่วโลกมาแล้ว (blog เก่า เคยเขียนถึง)

สิ่งเหล่านี้ จีนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก โดยรูปแบบที่ไม่เชย ไม่น่าเบื่อ เพราะได้มืออาชีพอย่างจางอี้โหมว และความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่ที่สำคัญคือ เนื้อหาภูมิปัญญาในประวัติศาสตร์ของเขา มีอัดแน่นอย่างเหลือเฟือ ชนิดที่หาชาติใดเทียบติดได้ยาก

ทำให้อดคิดไม่ได้ ว่าถ้าอินเดียได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกบ้าง เขาจะถ่ายทอดเรื่องอะไรออกมาบ้าง

แล้วก็อดคิดไม่ได้เช่นกัน ว่าไทยเรามีกึ๋นอะไรบ้างหนอ..

ป้ายกำกับ: ,

03 สิงหาคม 2551

Bayinnaung

นอกจากสามก๊กและเรื่องอื่น ๆ ของจีนแล้ว นิยายปลอมพงศาวดารอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ ซึ่งหลังจากได้ฉบับรวมเล่มราคาถูกมาจากงานสัปดาห์หนังสือ และใช้เวลาเป็นเดือน ๆ อ่านเก็บเล็กผสมน้อยก่อนนอนคืนละสิบกว่าหน้า (เพื่อไม่ให้กระทบเวลางาน) ในที่สุดก็จบนิยายหนาเกือบสองพันหน้านี้จนได้

ผู้ชนะสิบทิศนี้ เคยเรียนตอนศึกเมืองแปรที่ตะเบงชะเวตี้แตกทัพมาแล้ว ได้รู้เค้าโครงเรื่องจากเพลงในชุดผู้ชนะสิบทิศของครูไสลมาบ้าง (มีเว็บรวมเพลงด้วย) แล้วก็รู้มาว่า ยาขอบยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ว่านี่เป็นเรื่อง ปลอมพงศาวดาร ล้วน ๆ โดยอาศัยข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย มาขยายความเป็นร้อยเป็นพันหน้า

แต่ก็ยังอยากอ่านเรื่องเต็ม เพราะรู้สึกถึงรสวรรณกรรมหลากหลายชวนติดตาม แล้วก็ไม่ผิดหวัง แถมยังเป็นแรงกระตุ้นให้ไปหยิบหนังสือประวัติศาสตร์พม่าที่เคยซื้อมาไว้นานแล้ว มาเปิดอ่านเป็นครั้งแรกด้วย!

แน่นอนว่าเรื่องปลอมพงศาวดารนั้น ปลอมมากจนจริงกับเท็จปนเปกัน หนักกว่าสามก๊กเยอะ ผิดกันแต่ว่า เรื่องนี้ทุกคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องปลอม ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเท่าสามก๊ก และความที่เป็นกึ่ง ๆ นิยายประโลมโลก จึงไม่มีตำราบริหารใดยกขึ้นมาเป็นคัมภีร์เหมือนสามก๊ก

แต่เมื่อได้อ่านแล้ว จะพบว่าในส่วนกลศึกต่าง ๆ นั้น ดูสมจริงและเป็นเหตุเป็นผลกว่าสามก๊กเสียอีก การสั่งการก็เป็นขั้นเป็นตอน ที่ไหนที่ชวนสงสัย ก็มีบทถามหรือโต้แย้งของแม่ทัพรอง และนายทัพก็อธิบายจนกระจ่าง ไม่ใช่คนรับคำสั่งยังงง ๆ จนสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่ากูรบชนะได้ไงเหมือนสไตล์ขงเบ้ง การแสดงภาพทีมเวิร์กอย่างชัดเจนอย่างนี้สิ ยังน่าเป็นตัวอย่างการบริหารได้ดีกว่าเป็นไหน ๆ

นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังสะท้อนบุคลิกของคนที่เกิดมาเพื่อเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" ได้ดีทีเดียว อ่านแล้วจะรู้สึกบ้าพลังอย่างบอกไม่ถูก กลับมามองชีวิตตัวเองแล้วจะเห็นอุปสรรคเป็นเรื่องขี้ผงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

ส่วนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ .. แหะ ๆ คงไม่ต้องวิจารณ์มาก เห็นชัดกันอยู่แล้ว

และที่น่าสนใจคือ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่อง ซึ่งจะมีบทสนทนาที่อ้างถึงประวัติศาสตร์ช่วงต่าง ๆ ของพม่าอยู่ประปราย เป็นแนวให้ไปสืบค้นได้ ไม่ใช่แค่ช่วงแผ่นดินตะเบงชะเวตี้ตามท้องเรื่องเท่านั้น ที่แน่ ๆ คือ ชวนให้อยากอ่านเรื่องราชาธิราช คล้าย ๆ กับตอนที่อ่านสามก๊กแล้วทำให้อยากอ่านเรื่องไซ่ฮั่นเพิ่ม (ซึ่งก็ได้อ่านไปแล้วเช่นกัน)

นี่แหละ ที่ทำให้ได้ไปปัดฝุ่นหนังสือ "History of Burma" บนชั้นหนังสือ อ่านแล้วค่อย ๆ สร้างเค้าโครงประวัติศาสตร์.. แล้วก็นึกเสียดายที่ไม่ได้ตั้งใจเรียน "เพื่อนบ้านของเรา" สมัยมัธยมให้มากกว่านี้

ภูมิหลังประวัติศาสตร์พม่าก่อนเรื่องผู้ชนะสิบทิศนี้ก็คือ แผ่นดินพม่านั้นไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว แต่ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ อาศัยอยู่ด้วยกันหลายชนชาติ เอาเฉพาะที่ถูกอ้างถึงในเนื้อเรื่อง ก็มี มอญ (ตะเลง), พม่า, กะเหรี่ยง, โมนยิน (ฉาน/ไทใหญ่), ยะไข่ แต่ละชนชาติก็ครอบครองพื้นที่แยกต่างหากจากกันเหมือนเป็นคนละประเทศ จนกระทั่งมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นครั้งแรก ในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshwehti) แห่งราชวงศ์ตองอู แล้วอำนาจของพม่าก็แผ่ไพศาลถึงขีดสุดในสมัยพระเจ้าบาเยงนอง (Bayinnaung) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ บุเรงนองกะยอดินนรธา พระเจ้าชนะสิบทิศผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ก่อนที่จะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วในสมัยพระเจ้านนเตี๊ยะบาเยง (Nandabayin) หรือ นันทบุเรง อันเนื่องมาจากนโยบายการบริหารที่ผิดพลาด จนกระทั่งอยุธยาภายใต้การนำของสมเด็จพระนเรศวรผงาดขึ้นมาครองอำนาจในภูมิภาคแทน

พม่าในยุคเริ่มแรก คืออาณาจักรพุกาม (Pagan) ซึ่งผมยังเก็บรายละเอียดไปไม่ถึง ขอข้ามไปก่อน แต่ต่อมาถูกกุบไลข่านรุกราน และเข้ามาครอบงำอำนาจ เจ้ากี้เจ้าการรับรองกษัตริย์ต่าง ๆ ในฐานะผู้ครองแคว้นหนึ่งของจีน นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลจากการอพยพลงใต้ของชนเผ่าไท คือพวกไทใหญ่ที่เข้ามายึดพื้นที่ ผลักดันชาวพม่าให้ถอยร่นลงใต้

ในสมัยนั้น ศูนย์กลางอำนาจของพม่าอยู่ที่อังวะ (Ava) ส่วนทางใต้ ชาวตะเลงก็ครอบครองพื้นที่อยู่ โดยมีศูนย์กลางเดิมอยู่ที่เมาะตะมะ (Martaban) ก่อนจะย้ายมาที่พะโค (Pegu) หรือหงสาวดี โดยเมื่อไทใหญ่บุกลงมายึดอำนาจในอังวะได้ ชาวพม่าก็อพยพหนีความโหดร้ายป่าเถื่อนของไทใหญ่ลงมารวมกันที่ศูนย์อำนาจสำคัญสองแห่ง คือ แปร (Prome) และตองอู (Toungoo) โดยที่ตองอูนั้น สัดส่วนของประชากรพม่าจะสูงที่สุด จึงมีเอกภาพและกลายเป็นศูนย์รวมของพม่าที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องราชาธิราชนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของมอญ-พม่าในช่วงก่อนการรุกรานของไทใหญ่ ศูนย์กลางของตะเลงเพิ่งย้ายมาหงสาวดีใหม่ ๆ ส่วนศูนย์กลางของพม่ายังคงอยู่ที่อังวะ ส่วนเรื่องผู้ชนะสิบทิศ จะเริ่มในช่วงที่ตองอูเรืองอำนาจแล้ว และเริ่มแผ่ขยายอำนาจไปปราบหงสาวดี แปร และอังวะ (ที่โมนยินไทใหญ่ครอบครองอยู่) รวมแผ่นดินลุ่มแม่อิระวดีเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้เศวตฉัตรของพระจักรพรรดิตะเบงชะเวตี้ที่หงสาวดี และภายหลังพระเจ้าบุเรงนองได้สานต่อ ไปปราบยะไข่ เชียงใหม่ และอยุธยาด้วย

ไว้คราวหน้าค่อยมาเขียนเพิ่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองต่าง ๆ

ป้ายกำกับ: , ,

02 สิงหาคม 2551

Red Cliff

ได้ไปดู Red Cliff หรือสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ มา เป็นอีกครั้งหนึ่งของหนังฟอร์มยักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากนิยายระดับมหากาพย์ มีการผ่าตัดเนื้อเรื่องตามปกติ แต่คราวนี้ ความคิดเห็นไม่ได้เหมือน ครั้งดูเรื่อง Troy เนื่องจากกรณีของ Troy นั้น สิ่งที่มีให้เปรียบเทียบมีเพียงงานวรรณกรรมล้วน ๆ ในขณะที่สามก๊ก มีทั้งนิยายและประวัติศาสตร์

ผมเคย อ้างถึง ประวัติศาสตร์สามก๊กไปแล้วครั้งหนึ่ง การมีประวัติศาสตร์ให้เทียบกับนิยาย ก็ทำให้แยกแยะส่วนที่เป็นจินตนาการของกวีออกจากส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ได้ และการดัดแปลงเนื้อหาใน Red Cliff ครั้งนี้ ก็เป็นการผสมผสานกันระหว่างนิยายกับประวัติศาสตร์

ศึกเซ็กเพ็ก หรือยุทธนาวีผาแดงนี้ ในประวัติศาสตร์นั้น วีรบุรุษของฝ่ายสัมพันธมิตรคือจิวยี่ แม่ทัพเรือของง่อก๊ก ซึ่งใช้ความช่ำชองทางน้ำและการวางแผนที่ดีทำศึกกับโจโฉ จนโจโฉผู้คร่ำหวอดกับการศึกจากการปราบภาคเหนือมายังต้องออกปากชม แต่ในตอนท้ายของสงคราม ทัพโจโฉประสบกับโรคระบาด ทำให้โจโฉตัดสินใจถอนทัพกลับ โดยในบันทึกจดหมายเหตุของวุยก๊กยังระบุว่าโจโฉเป็นคนสั่งจุดไฟเผาทัพเรือตัวเองด้วย เพื่อกำจัดโรคระบาดหนึ่ง และเพื่อไม่ให้ฝ่ายง่อก๊กได้กองเรือไปใช้ประโยชน์อีกหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจโฉจะเสียทัพอย่างไม่เป็นกระบวนอย่างในนิยาย แถมยังกลับไปเตรียมการศึกครั้งใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีตีเก็บเล็กผสมน้อย บวกกับการทำนาแบบถุนเถียน ไม่ได้โหมรุกเป็นทัพใหญ่เหมือนศึกครั้งนี้อีก

ส่วนแม่ทัพจิวยี่นั้น เสียชีวิตหลังเสร็จศึกเซ็กเพ็กสองปี อาจเป็นเพราะติดโรคระบาดในครั้งนั้น ประกอบกับการตรากตรำทำศึกมานาน โดยหมอของกังตั๋งยื้อชีวิตแม่ทัพมาได้ถึงสองปี

แต่ภาพที่ล่อกวนตงละเลงในสามก๊กฉบับงิ้วนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง พระเอกของเรื่องกลายเป็นขงเบ้งที่มาโน้มน้าวกังตั๋งให้ประกาศสงคราม ส่วนตัวเองคอยออกอุบาย ชิงไหวชิงพริบกับจิวยี่ขี้อิจฉา จนกระทั่งสามารถยืมมือง่อก๊กทำลายทัพเรือโจโฉย่อยยับ แต่จะสังเกตว่า แม้ในนิยาย ทุกอย่างก็เกิดจากอุบายความคิดของจิวยี่เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่นิยายแสดงให้เห็นว่าขงเบ้งรู้เท่าทันตลอดเท่านั้น

นอกจากนี้ นิยายยังให้ขงเบ้งแต่งทัพซุ่มโจมตีระหว่างทางถอยของโจโฉไปจนถึงถนนสายฮัวหยง ให้กวนอูได้แทนคุณโจโฉเพื่อเคลียร์ใจ แล้วปล่อยโจโฉซมซานกลับฮูโต๋พร้อมทหารติดตัวไม่กี่นาย ทางฝ่ายจิวยี่นั้น ก็เสียรู้ขงเบ้งครั้งแล้วครั้งเล่าจนรากเลือดตาย ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับบันทึกประวัติศาสตร์

เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากจะไม่ได้ส่งกำลังมาช่วยในทัพเรือแล้ว หลังเสร็จศึกขงเบ้งยังวางแผนยึดเมืองต่าง ๆ สบายใจเฉิบ รวมทั้งฉกเกงจิ๋วไปครองหน้าตาเฉย

เรียกว่าทั้งชุบมือเปิบ ทั้งหักหลังมิตร แต่ล่อกวนตงก็เขียนให้ผู้อ่านเห็นใจฝ่ายเล่าปี่ และนิยมในความเก่งกาจของขงเบ้งได้ แถมริบเครดิตเกือบทุกอย่างของจิวยี่ไปให้ขงเบ้งเสียด้วย

ดังนั้น การดัดแปลงเนื้อเรื่องของ Red Cliff ที่ให้จิวยี่เป็นวีรบุรุษ แถมยังหยิกขงเบ้งให้ดูเปิ่นบ่อย ๆ เช่น "อากาศเย็นทำไมถือพัด" หรือครั้งที่ขงเบ้งบอกว่าอาบน้ำให้นกแล้วเอาพัดโบกให้แห้ง "แล้วถ้ามันเป็นหวัดล่ะ" อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะทำให้คนที่อินกับนิยายไม่พอใจบ้าง แต่ผมดูแล้วขำ คิดว่า จอห์น วู (ยินว่าครั้งนี้เขาลงมือเขียนบทด้วยตัวเอง) ก็คงอยู่ในกลุ่มที่หมั่นไส้ขงเบ้งเหมือนกับผมและอีกหลาย ๆ คน และการสร้าง Red Cliff ในครั้งนี้ ก็เป็นการคืนเครดิตอันพึงมีให้กับจิวยี่นั่นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอิงแต่ประวัติศาสตร์ทั้งหมด รายละเอียดปลีกย่อยในนิยายก็ยังเอามาผสมเพื่อเอาใจคอนิยาย เช่น เรื่องการตีฝีปากของขงเบ้งท่ามกลางหมู่เสนามาตย์ของง่อก๊ก ความคลั่งไคล้เสี่ยวเกี้ยวของโจโฉ (ที่ออกจะทำโจ่งแจ้งเกินนิยายด้วยซ้ำ) ความบ้าระห่ำของเตียวหุย (แต่ไม่ได้ให้เครดิตอุบายลวงที่สะพานเตียงปันเกี้ยวกับเขา แค่เอามาเป็นแนวคิดทำม่านฝุ่นบังค่ายกลเท่านั้น) ฝีไม้ลายมือของกวนอู (ที่เอามาจากตอนอื่น เนื่องจากครั้งนี้กวนอูไม่ได้มีบทบาทอะไรในนิยาย เพราะอยู่ระหว่างไปขอกำลังเล่ากี๋ที่เมืองกังแฮมาช่วย) และวีรกรรมช่วยอาเต๊าของจูล่ง (ซึ่งเรื่องของจูล่งครั้งนี้ตรงกับบันทึกในประวัติศาสตร์) นี่ยังนึก ๆ อยู่ ว่าภาคสองยังจะให้ขงเบ้งทำพิธีเรียกลมสลาตันอีกหรือเปล่า ที่แน่ ๆ คือ เห็นโปรยไว้แล้ว เรื่องเรือฟางเก็บลูกเกาทัณฑ์จากทัพโจโฉ

แต่ท่าทาง จอห์น วู จะอยากเห็นบทของสตรีมากขึ้น ถึงได้ดึงซุนหยิน น้องสาวซุนกวน หรือที่เรียกว่า ซุนฮูหยิน หลังแต่งงานกับเล่าปี่แล้ว ให้มาออกศึกกับเขาด้วย ทั้งที่ในนิยายยังไม่มีบทของเธอในตอนนี้ แล้วก็ยังเพิ่มบทพูดให้เสี่ยวเกี้ยว ภรรยาคนสวยของจิวยี่ เกี่ยวกับการสงคราม ยินว่าภาคสองจะเป็นคนถือสารไปถึงทัพโจโฉด้วย

อีกประการหนึ่งที่ดัดแปลงคือ ภาพของความสามัคคีระหว่างสัมพันธมิตร โดยกองกำลังของเล่าปี่ได้เข้ามาร่วมรบด้วย ผิดกับในนิยายที่นอนทอดหุ่ยอยู่ที่แฮเค้า รอดูจิวยี่รบ โดยส่งขงเบ้งเข้าไปเป็นทูตเพียงคนเดียว อันนี้ถ้าไม่ดัดแปลงบทล่ะก็ คงเป็นเรื่องสงครามโจโฉ-จิวยี่ล้วน ๆ โดยแทบไม่มีบทของฝ่ายเล่าปี่เลย

แต่ก็ให้เป็นความสามัคคีที่จิวยี่เป็นคนสร้าง โดยใช้วาทะการดึงเชือกฟาง นับว่ารักษาคอนเซปต์ได้เสมอต้นเสมอปลายดี

ทั้งการเอาเรื่องโจโฉอยากได้นางไต้เกี้ยวเสี่ยวเกี้ยวมายั่วจิวยี่ให้ร่วมรบ ก็ไม่มีให้เห็น ก็เล่นเอาเสี่ยวเกี้ยวมานั่งกันท่าอย่างนี้ ขงเบ้งยังจะยั่วได้ลงคอก็ให้มันรู้ไปสิ

ส่วนที่ชอบก็คือ การเอาค่ายกลโป๊ยก่วยออกมาแสดงได้อย่างเห็นภาพ แม้ในนิยายจะไม่มีการใช้ในตอนนี้ การทำฉากกองเรือเรือนหมื่นให้เห็นภาพ ว่ามันมากมายขนาดไหน คนอ่านนิยาย ก็คงนึกถึงจำนวนตัวเลข แต่ไม่ได้เห็นภาพว่ามันมากมายมหาศาลขนาดนี้

แต่ทำไมนะ.. ดูหนังจีนฉบับฮอลลีวู้ดแล้วรู้สึกขาด ๆ เกิน ๆ ทุกครั้ง กับ over-acting ของตัวละคร แม้ผู้กำกับจะเป็นคนจีนเองก็ตาม (ผมเริ่มเอียนตั้งแต่ เก๋าเจ้งไทเกอร์ริบบิ้นดรากอน เป็นต้นมา) จิวยี่เป็นคนเชี่ยวชาญดนตรีก็จริง แต่ถึงกับสั่งให้กองทัพหยุดฝึกเพื่อฟังเสียงขลุ่ยของเด็ก มันรู้สึกเวอร์ไปหน่อย แต่การที่พ่อเฒ่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องกระบือหาย ก็พอชดเชยได้ แต่ถ้าเป็นสนามซ้อมจริง พอมีคนมาร้องเรียนอะไร แม่ทัพจะสั่งกองทัพทั้งหมดหยุดซ้อมเลยงั้นหรือ จะไม่ให้แม่ทัพรองออกไปรับเรื่องแทน หรือไม่ก็ให้แม่ทัพรองดูการซ้อมไปก่อน แล้วตัวเองค่อยออกมาฟังความ ก็ค่อยดูสมเหตุสมผลหน่อย เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีคนมาโหวกเหวกเรื่องม้าคลอดลูกไม่ออกให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต ให้กองทัพทั้งหมดหยุดซ้อมต่อไป ดูไม่เป็นมือโปรเท่าไรเลย

หรือจะเป็นฉากสนามรบ ก็ไม่รู้จะมีทหารเลวไปทำไม รบทีไรก็ให้แต่นายกองออกลุยเดี่ยวตลอด แล้วก็แอคชันแบบฝากอาวุธตัวเองไว้กับศพ หักทวนศัตรูมาเสียบ ดูแล้วมันเวอร์จนเอียนน่ะ หรือฝรั่งเขาชอบดูหนังจีนแบบนี้กันเหรอ?

แต่อาจจะให้อภัยได้สำหรับการถ่ายทอดความลังเลใจของซุนกวน โดยใช้การล่าเสือนำไปสู่จุดแตกหัก นับว่าทำได้ดี

อ้อ มีเกร็ดนิดหนึ่งเกี่ยวกับขงหยงที่ถูกโจโฉสั่งประหารตอนต้นเรื่อง เขาถูกประหารจริงทั้งในประวัติศาสตร์และในนิยาย ในฐานะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโจโฉ ชอบขัดคอด้วยหลักปรัชญาขงจื๊อบ่อย ๆ การประหารขงหยงซึ่งมีเชื้อสายมาจากขงจื๊อ จึงทำให้นักปราชญ์ต่าง ๆ ไม่พอใจโจโฉ แล้วก็ทำให้เขียนตอกไข่ใส่ความโจโฉต่าง ๆ นานาในเวลาต่อมา

ป้ายกำกับ: , , , ,

01 สิงหาคม 2551

Font Conference

เจอมาหลายวันละ จาก blog ของ Jeff Waugh:

ถ้าฟอนต์เป็นคน แล้วมาประชุมกัน จะเกิดอะไรขึ้น

(ผมเลี่ยงการ embed video ในเว็บตัวเองนะครับ คุณสามารถคลิกไปดูที่แหล่งต้นตอเลยได้)

ขำ ๆ ครับ วันนี้ :-)

ป้ายกำกับ: ,

hacker emblem