Theppitak's blog

My personal blog.

26 เมษายน 2551

Xlib Blocks SCIM for Thai

เคยพยายามจะใช้ SCIM ภาษาไทยกับ application ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ GTK+ มาหลายยกแล้ว แต่ไม่เป็นผล แต่ก็ไม่ได้สนใจมาก เพราะไม่ค่อยได้ใช้ SCIM อยู่แล้ว จนวันนี้ ได้รับคำถามจาก Pat Suwalski ซึ่งเป็นนักพัฒนา Xandros ว่าทำไม SCIM ถึงทำงานได้แต่บนโลแคลอื่น ยกเว้นโลแคลไทย

คำถามสั้น ๆ แต่บอกอาการชัดเจนมาก นั่นสิ ผมไม่เคยลองในโลแคลอื่นเลย พอลองบ้างก็พบว่ามันเวิร์ก ยกเว้นโลแคลไทยอย่างที่เขาว่าจริง ๆ

รู้อย่างนี้แล้ว ก็นึกถึงโค้ดใน Xlib ที่เช็กเงื่อนไขการเปิด XIM ไทยที่ อ.พฤษภ์ เป็นคนเจอแล้วมาบอกคนใน TLWG เมื่อนานมาแล้ว ว่ามันเช็กแค่โลแคลว่าเป็นภาษาไทยหรือเปล่าเท่านั้นเอง ลองไล่โค้ดแล้วรันแห้งในใจ ก็พบว่า Xlib จะไม่มีทางเปิด XIM server ภายนอกเลย ถ้าอยู่ในโลแคลไทย! ฉะนั้น จึงไม่สามารถใช้ SCIM ผ่าน XIM server ได้ ที่มันใช้ได้กับ GTK+ app ก็เพราะมันมี GTK+ SCIM bridge ที่เชื่อมตรงกับ GTK+ นั่นเอง

ว่าแล้วก็ file Freedesktop Bug #15719 พร้อมเสนอแพตช์ไว้

หมดไปหลายชั่วโมง สำหรับวันนี้ แต่ก็สนุกดี

แล้วก็กลับมาเคลียร์ TODO ต่อ T_T

ป้ายกำกับ: ,

24 เมษายน 2551

xiterm+thai is alive

xiterm+thai ซึ่งเป็น lightweight terminal emulator ที่พี่ฮุ้ยแฮ็กภาษาไทยไว้เมื่อหลายปีก่อน จนถึงบัดนี้ มันก็ยังไม่ตายครับ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเทอร์มินัลที่ดีที่สุดในขณะนี้ ถ้าสิ่งที่คุณต้องการคือใช้ข้อความที่เป็นรหัส TIS-620

xiterm+thai screenshot

หลังจากที่ นิวตรอน รับดูแล Debian package ก็ปรากฏว่า การผ่านกระบวนการ sponsor ของ Debian ทำให้ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์มากมาย ทำให้มีการปรับปรุงแก้ไขหลายระลอก

ล่าสุด xiterm+thai 1.09 มีรายการ security fix หนึ่งรายการ, ลด build-dependency ลงไปอีกหนึ่งรายการ (Xt Intrinsic) แล้วก็แก้ GCC warning พร้อมปรับโครงสร้างโค้ดอีกเพียบ man page ก็มีการเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวกับภาษาไทยแล้ว

ถือว่าเกินคุ้มครับ ที่แพกเกจนี้ได้ถูกผลักดันกลับเข้า Debian อีกครั้ง รอนิวตรอนอีกสักพัก 1.09 คงเข้า sid

ป้ายกำกับ:

18 เมษายน 2551

Thanks

ขอขอบคุณ Ubuntuclub ที่ได้หย่อนสตางค์ลงหมวก เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาของผมครับ

ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ขอให้ซอฟต์แวร์เสรีจงเจริญ!

ป้ายกำกับ:

14 เมษายน 2551

OSS Glossary Sprint

นอกจากจะแปล Firefox® แล้ว House 2.0 ยังมีกิจกรรมย่อยที่ทำเพิ่มด้วย คือการเคลียร์ OSS Glossary ที่ทีมแปลใช้ร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่นักแปลโครงการต่าง ๆ จะมาร่วมกันทำในระหว่าง standby ที่ห้อง #tlwg โดยในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถตอบคำถามให้กับทีมหลัก House 2.0 พร้อมทั้งอัปเดต glossary หากมีประเด็นที่พบระหว่างแปลไปด้วย

การเคลียร์ glossary นี้ ก็มีมูลเหตุอยู่ว่า ปริมาณงานในการดูแล glossary มันมหึมามาก เมื่อเทียบกับกำลังคนที่มี เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะสมมุติฐานเริ่มแรกของผู้สร้าง (ทีมเนคเทค) กับการใช้งานจริงมันไม่สอดคล้องกัน คือผู้สร้างเริ่มจากเพิ่มรายการคำเข้าไปให้มากที่สุด แล้วคาดหวังว่า จะมีผู้ร่วมสมทบช่วยกันแปล โดยมีทีมหลักคอย approve คำแปลอีกทีหนึ่ง แต่ในการทำงานแปลจริงนั้น คำแปลแต่ละคำต้องมาจากการอภิปรายตกลงกัน โดยใช้ข้อมูลหลาย ๆ ด้านประกอบกัน แล้วใช้ให้เหมือนกัน ดังนั้น กว่าจะได้ข้อสรุปแต่ละคำก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็เป็นสิ่งทีควรทำ

ดังนั้น OSS Glossary ที่ควรจะเป็นก็คือ เริ่มจากความว่างเปล่า แล้วเพิ่มคำเข้าไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการที่เกิดขึ้น แล้วบันทึกผลสรุปที่ได้หลังจากอภิปรายเสร็จ จึงจะทำให้ glossary กับสิ่งที่นักแปลใช้ มีความสอดคล้องกันตลอดเวลา

แต่ในเมื่อ glossary เริ่มสร้างมาจากโจทย์ที่ต่างกัน ปัจจุบันจึงมีรายการส่วนเกินจำนวนมาก และสิ่งที่นักแปลสนใจจะอัปเดตจริง ๆ เป็นแค่ส่วนย่อยบางส่วนเท่านั้น ปริมาณงานที่มากมายเช่นนี้ ประกอบกับกำลังคนที่ลดลงเรื่อย ๆ จึงทำให้นักแปลพาลไม่ใช้ glossary ไปเสียเลย ในขณะที่ผู้มาใหม่ก็งุนงงกับ glossary ที่ล้าสมัย ไม่ตรงกับที่ใช้จริงในโปรแกรม

การเคลียร์ OSS Glossary จึงเกิดขึ้น โดยใช้โอกาสต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ เช่น การทำในเวลาว่างของนักแปล (ซึ่งไม่ค่อยจะมี เพราะที่มาทำงานแปลนี่ก็ใช้เวลาว่างทำอยู่แล้ว) การอัปเดตรายการที่มีข้อสรุปใน mailing list และที่จะคืบหน้าได้มากที่สุดก็คือ ผ่านการระดมกำลังในลักษณะ sprint ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาแล้วครั้งสองครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เราจะร่วมกันเคลียร์ได้

ossglossary sprint นี้ ไม่ได้มีแผนล่วงหน้า จึงไม่ได้ประกาศล่วงหน้า แต่อาศัยจังหวะที่มี House 2.0 รวมพลในวันหยุดยาว แต่งานรูทีนอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเตรียมการอะไรมาก นอกจากห้องประชุม IRC และบอกข่าวให้ทั่วถึง

ในการเคลียร์ สิ่งที่จะทำคือ

  • ลบ (reject) คำส่วนเกินออกไป โดยเฉพาะคำที่ไม่ใช่ technical term
  • อภิปรายและ approve หรือ reject คำแปลที่มีผู้เสนอเข้ามา แต่จะไม่พยายามหาข้อสรุปในกรณีที่มีประเด็นละเอียดอ่อน เพื่อไม่ให้เสียเวลามาก สำหรับคำยาก ๆ จะโพสต์ตั้งโจทย์ใน mailing list เพื่อทิ้งไว้อภิปรายกันต่อไป
  • เพิ่มคำแปลให้กับบางคำที่เห็นว่ามีความชัดเจนเพียงพอ

มีเครื่องมือช่วยคือ OSS Corpus ไว้ค้นหาคำแปลเดิมที่มีการแปลไว้ เป็นข้อมูลประกอบ

สองวันที่ผ่านไป มีความคืบหน้าคือ:

  • 12 เม.ย. - approve 56 คำ, reject/delete 49 คำ, เพิ่ม 1 คำ
  • 13 เม.ย. - approve 66 คำ, reject/delete 46 คำ, เพิ่ม 1 คำ

วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของ sprint รอบนี้ ถ้าสนใจก็เชิญได้ที่ห้อง #tlwg นะครับ

ปล. เพื่อให้เห็นปริมาณงานที่เหลือคร่าว ๆ opensource glossary มีคำศัพท์ทั้งหมดประมาณ 4,300 คำ (ยังไม่นับ openoffice glossary ซึ่งมีกว่า 8,000 คำ แต่ไม่แน่ใจว่ามีใครใช้หรือเปล่า) เราทำ sprint เต็มวัน เคลียร์ได้ประมาณ 100 คำ คิดเป็นประมาณ 2.3% จะต้องมี sprint แบบนี้อีกราว 40 ครั้ง จึงจะเสร็จ นี่อาจทำให้เห็นภาพของปัญหาปัจจุบันของ glossary ได้บ้าง

ป้ายกำกับ:

11 เมษายน 2551

Questions for Thai LUGs

ก่อนอื่น ขอเคลียร์เกี่ยวกับ blog เรื่อง social network เร่ร่อน เสียหน่อยก่อน ใน blog นั้น ผมเขียนไว้ว่า "ดูท่าการล่มสลายของเครือข่ายเดิมใน LTN Forum จะกู่ไม่กลับซะแล้ว" แล้วก็ตามด้วยสาธยายเกี่ยวกับการแยกวงกระจัดกระจายต่าง ๆ คาดไม่ถึงว่า พอไปคุยกับหลาย ๆ คน เขาเข้าใจว่าผมคิดว่าการแยกวงเหล่านั้นเป็นสาเหตุของการล่มสลาย พอกลับไปอ่านที่ผมเขียนอีกรอบ มันก็สามารถตีความได้อย่างนั้นจริง

แต่ความหมายขณะเขียน blog ผมเน้นที่ส่วนหลัง คือการ "กู่ไม่กลับ" ของการล่มสลายนั้น คือเรารู้ว่า TLWG มันพังครืนลงก่อนหน้านั้นแล้ว แต่จะทำยังไงล่ะ กับงานพัฒนาที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป? สิ่งที่ผมขลุกอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือทรัพยากรต่าง ๆ ใน LTN CVS ซึ่งในระหว่างที่ไม่มีที่ให้พูดคุย ผมก็ต้องทำไปเท่าที่จะทำได้ โดยพยายามให้กิจกรรมยังอยู่ในสายตาสาธารณชนอยู่ (ไม่ใช่หมกเม็ดทำ) ด้วยการเขียนลง blog และพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Planet TLWG, LTN Forum (เชื่อหรือไม่ ว่ายังมี bug report ที่นั่นอยู่!), e-mail ส่วนตัว, instant messenger (ICQ, gtalk), IRC (นาน ๆ ที) ฯลฯ โดยในใจก็ยังหวัง ว่าชุมชนพัฒนามันจะฟื้นกลับมาอีก จะได้มี feedback และกิจกรรมต่าง ๆ คึกคักกว่านี้ เพื่ออัตราการพัฒนาที่สูงเหมือนในอดีต ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในหัวขณะที่เขียนประโยค "ดูท่าการล่มสลาย...จะกู่ไม่กลับ" จึงอยู่ที่การ "กู่มันกลับมา" ซึ่งดูท่าจะยากขึ้นทุกที หลังจากที่มีการแยกวงกระจัดพลัดพราย แต่ผมไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสาเหตุของการล่มสลายแต่อย่างใด และผมก็ไม่ได้หมายถึงการกู่ LTN Forum กลับมาด้วย ผมหมายถึงกลุ่มคน ดังที่ใช้คำว่า "เครือข่ายเดิมใน LTN Forum" มันจะเป็นที่ไหนก็ได้ ขอให้ไม่กระจัดกระจายเกินไปอย่างที่เป็นอยู่ก็แล้วกัน

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของ blog นี้ เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากบทความเกี่ยวกับ Beijing LUG และ LUG Singapore ที่ ZDNet Asia คือผู้เขียนเขาอยากขยายมาถึงเรื่องของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย เลยมาตั้งคำถามกับประเทศไทยดังนี้:

  • How was 2007 for your group?
  • What are some changes you foresee in your plans for 2008?
  • How has membership changed in the last few years? More vocal now? More members now?
  • Is the focus of your group discussion changing from a few years

ผมชักรู้สึกว่า ตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้เสียแล้ว คำตอบเบื้องต้นที่ผมมีคือ:

How was 2007 for your group?
ปีที่ผ่านไป ก็เหมือนกับหลายปีที่ผ่านไป คือไม่มีกลุ่มก้อนที่แน่นอน มีกลุ่มต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมแยกกัน เช่น:
  • LTN กิจกรรมพัฒนาเป็นไปตามมีตามเกิด ไม่คึกคักเท่าที่ควร ชุมชนถือได้ว่าตายไปแล้ว แต่ยังมีคนกลุ่มเล็ก ๆ พยายามต่อลมหายใจของงานพัฒนาต่อไป ไม่มีชุมชนผู้ใช้ที่นี่อีกต่อไป แต่มีความพยายามล่าสุดที่จะฟื้น กลุ่มนักพัฒนา ขึ้นมาใหม่
  • Ubuntuclub เน้นเจาะกลุ่มผู้ใช้ใหม่ โดยมี Ubuntu เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่าง ๆ และกลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่สำหรับกิจกรรมการพัฒนานั้น แม้จะมีการพัฒนา distro ของตัวเอง แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับต้นน้ำน้อยมาก
  • Debianclub แม้เป้าหมายจะเน้นกลุ่มผู้ใช้ Debian ทุกระดับ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนใหญ่มีแต่ hard core กลุ่มนี้ความเคลื่อนไหวไม่คึกคักมาก และการเติบโตก็ยังน้อย
  • Blognone จุดยืนคือเป็นเว็บข่าวเทคโนโลยี แต่ก็ปรากฏว่ามีสมาชิกระดับคุณภาพจำนวนมาก มีศักยภาพในการสร้างกระแสความเคลื่อนไหว รวมทั้งสามารถสร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อวงการโอเพนซอร์สได้หลากหลาย
  • Codenone แตกสาขากลุ่มนักพัฒนาออกมาจาก Blognone แต่ผมไม่มีข้อมูลมากสำหรับกลุ่มนี้
  • #tlwg กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเอกเทศอีกกลุ่ม มีการสนทนากันภายในกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องสัพเพเหระ และอัปเดตข่าวสารกันเอง มีจำนวนสมาชิกไม่แน่นอน และนับลำบาก เพราะบางคนเปลี่ยนชื่อไปเรื่อย ๆ กลุ่มนี้ผมก็ไม่มีข้อมูลมากนักเช่นกัน
  • twitter เป็นกลุ่ม social network ที่โยงใยเป็นเครือข่าย มีการอัปเดตข่าวสารกันเอง ผมยังไม่มีข้อมูลมากนักเช่นกัน
  • OpenTLE เป็นกลุ่มผู้ใช้ของ Linux TLE ซึ่งเป็น distro ท้องถิ่น ผมเองมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับกลุ่มนี้
  • Thai L10N เป็นการรวมกลุ่มนักแปลซอฟต์แวร์เสรีต่าง ๆ ยังคงมีกิจกรรมการแปลอย่างต่อเนื่อง แต่ความมีส่วนร่วมของสมาชิกยังถือว่าต่ำ ทำให้บางครั้งซบเซา ขาดการอัปเดต
What are some changes you foresee in your plans for 2008?
ผมไม่เห็นแผนใด ๆ นอกจากงานในส่วนของตัวเอง การรวมกันอย่างหลวม ๆ ในสภาพปัจจุบัน ทำให้คาดหวังได้เพียงภาพรวมที่จะเกิดขึ้นเองจากกลุ่มย่อยและปัจเจกบุคคล คล้ายกับโครงสร้างของระบบซับซ้อนที่ทำนายลำบาก
How has membership changed in the last few years? More vocal now? More members now?
เช่นกัน.. ผมมองเห็นเพียงกลุ่มที่ผมข้องเกี่ยวด้วยเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่ามีการรวมกลุ่มเป็นกระจุกตรงนั้นทีตรงนี้ทีตามกระแสที่เกิดขึ้น ในแง่ของภาพรวม ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระดับเสียงของชุมชนเท่าใดนัก
Is the focus of your group discussion changing from a few years
แน่นอนว่าสภาพพลวัตอย่างนี้ หัวข้อที่สนใจย่อมแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามกระแสที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งส่งผลไปถึงการรวมกลุ่มเฉพาะกิจในโอกาสต่าง ๆ ด้วย

หลังจากพยายามตอบแล้ว ผมพบว่าผมไม่เหมาะที่จะเป็นคนให้ข้อมูลจริง ๆ แต่จะมีใครไหมที่จะให้ข้อมูลได้ในสภาพปัจจุบันนี้? หรือแทนที่จะตอบเป็นภาพรวม ก็ใช้วิธีแจกคำถามไปยังกลุ่มต่าง ๆ ดีกว่า?

ป้ายกำกับ:

09 เมษายน 2551

Lexitron and Longdo Dicts

gnome-dictionary สามารถใช้พจนานุกรมจาก Longdo server ได้มา ปีกว่า ๆ แล้ว แต่หลายคนพูดถึง off-line dictionary โดยให้เหตุผลว่า บางทีก็ไม่ได้ต่อเน็ต และ kdictthai, gdictthai ก็ไม่มีการปรับปรุง

ความจริงมีโครงการที่แอบทำกันไว้ที่ LTN CVS อยู่สองโครงการที่น่าสนใจ คือ dictd-lexitron ที่เริ่มโดยคุณพูลลาภ และ dict-longdo ที่ผมทำเพิ่ม โดยทั้งสองแพกเกจ จะแปลงข้อมูลดิบของพจนานุกรมทั้งสองแหล่ง ให้อยู่ในรูปที่ DICT server (RFC 2229) ใช้ ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นข้อมูลที่ให้บริการอยู่ที่ Longdo server นั่นเอง

ความจริงสร้าง Debian package ไว้แล้ว แต่ยังอยากปรับแต่งทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงเสนอเข้า Debian วันนี้เลยนั่ง update ข้อมูลต่าง ๆ แล้วเขียน บทความ ลง GNOME ไทย ไว้

ตอนนี้ เรามีข้อมูลสำหรับ DICT protocol แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ สร้างข้อมูลสำหรับ StarDict มีใครสนใจทำไหมครับ? :-)

ป้ายกำกับ:

08 เมษายน 2551

Book Fair, swath, xiterm+thai

เข้ากรุงเทพฯ มา 3-4 วัน ไปทำธุระ พร้อมกับแวะงานสัปดาห์หนังสือด้วย แต่การเดินทางในกรุงเทพฯ ก็ทำให้เจอลมแรง จนตาแห้งกลับมากำเริบใหม่ กลับถึงบ้านเลยเคลียร์งานอย่างเดียว จะเขียน blog ก็ลำบากลำบนเกินไป

งานสัปดาห์หนังสือ

ปกติผมจะคุมงบ ด้วยการเดินสแกนรอบหนึ่งก่อน แล้วเลือกหนังสือพร้อมจดราคาไว้ จากนั้นค่อยเดินไล่ซื้อ วิธีนี้ทำให้งบไม่บานปลาย ปกติจะเกินพันไม่เท่าไร แต่ปีนี้ ราคาหนังสือมันแพงขึ้น ปาเข้าไปสองพัน คุมงบลำบากจริง ๆ

แต่เดินซื้อหนังสือทีไร ทำให้สังเกตได้ว่า speed reading น่าจะฝึกได้ด้วยการยืนอ่านหน้าร้านบ่อย ๆ เพราะอ่านได้เร็วกว่านั่งอ่านที่บ้านมาก

สุริยัน

โครงการ Suriyan Live CD เสร็จสิ้นลงแล้ว งานนี้ SIPA เป็นผู้ว่าจ้าง MetaMedia ทำ ผมเองเข้าไปแจมในฐานะที่ปรึกษานิดหน่อย แต่หน้าที่หลักคือดูแลแพกเกจภาษาไทยใน TLWG ให้ทันสมัย การที่เห็นแพกเกจภาษาไทยออกรุ่นบ่อยที่ LTN ในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องให้เครดิตโครงการสุริยันที่เป็นผู้สนับสนุนครับ

แต่น่าเสียดาย ที่แพกเกจภาษาไทยหลายตัวเข้า Hardy ไม่ทัน ผู้ใช้ Ubuntu คงต้องรอพบใน Intrepid นะครับ หรือถ้าใช้ Debian lenny/sid ก็สามารถลองได้เลย แต่ถ้าจะดู KDE 4 ที่รองรับภาษาไทยดี ๆ ก็ต้องลองสุริยันละครับ เพราะแพตช์ต่าง ๆ ยังคงรอ check-in อยู่

swath

ตามที่ได้ blog ไว้ เรื่อง การแก้ไขเรื่องการใช้แฟ้มชั่วคราว และ แผนการขั้นต่อไป ของ swath กลับจากกรุงเทพฯ มา ยังไม่พบ feedback ใด ๆ ก็เลยต้องอาศัยการทดสอบของผมเอง แล้วก็ออก swath 0.3.4 พร้อม upload 0.3.4-1 เข้า Debian ไปเรียบร้อย (bact ช่วยประกาศ ให้ด้วย)

xiterm+thai

นิวตรอน ซึ่งเป็นผู้ดูแล Debian package ของ xiterm+thai คนปัจจุบัน ได้ทำ desktop icon เพิ่มใน deb ของเขา พร้อมทั้งได้รับ feedback จาก Debian Developer (DD) ที่เป็น sponsor มา 2-3 เรื่อง จึงส่งต่อมาที่ upstream ผมเลยได้โอกาสปรับปรุง xiterm+thai เพิ่มเติมอีก ได้แก่

  • ผนวก desktop icon ของนิวตรอนเข้าใน upstream
  • แก้ไขเรื่อง xpm support ที่ขาด preprocessor ทำให้แม้ detect เจอ โค้ดที่เรียกก็ยังถูกปิด ก็จัดการแก้เสีย โค้ดส่วนนี้เป็นส่วนจัดการภาพพื้นหลังของเทอร์มินัล
  • ตัดการ link กับ libSM และ libICE ซึ่ง dpkg-shlibdeps ตรวจพบ ว่าไม่มีการใช้ฟังก์ชันใด ๆ เลยในนั้น ทีแรกว่าจะไม่แก้ แต่หลังจากนั่งแกะไปเรื่อย ๆ ก็พบวิธีแก้ ด้วยการแทนที่แมโคร AC_PATH_XTRA ใน configure.in ด้วย PKG_CHECK_MODULES โดยจะใช้ modularity ของ xorg 7 ให้เป็นประโยชน์ และทิ้งการรองรับ X11R6 ไป ผลที่ได้คือ เมื่อโหลด xiterm+thai แล้ว ใช้หน่วยความจำลดลงจาก 1.7 MB เหลือ 388 KB นอกจากนี้ deb ที่นิวตรอนจะ build ก็น่าจะมี dependency ลดลงไปอีกสองตัว (คือ libsm6 และ libice6)
  • แก้ gcc warning ทั้งหลาย

ออก xiterm+thai 1.08 ไปแล้ว ผู้ใช้ Debian อดใจรอแพกเกจจากนิวตรอนสักพัก ;-)

ขอ blog รวมมิตรแบบนี้ละ จะได้ไม่ต้อง blog ยาวหลายเรื่อง เพื่อสุขภาพตา

ป้ายกำกับ: , , , ,

hacker emblem