Theppitak's blog

My personal blog.

28 มีนาคม 2550

Firefox® Feisty Update Summary

ในที่สุด รายการ ubuntu update ที่รอคอยก็มาครบแล้ว หลังจากที่ทยอยมาเรื่อย ๆ จาก thaifonts-scalable มา libdatrie และ libthai ตอนนี้ firefox® ก็ update แล้วใน feisty ความจริง ประเด็นเหล่านี้ได้ blog ไว้ประปรายมาแล้ว แต่ขอสรุปผลของการ update ทั้งหมดนี้อีกครั้ง

  • การตัดคำไทยใน firefox ถูกแตกออกมาเป็นแพกเกจ firefox-libthai ต่างหาก กลายเป็น component เอกเทศสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการการตัดคำไทย แต่ไม่ติดตั้งใน firefox ปกติ ทำให้ไม่ต้องกินหน่วยความจำสำหรับผู้ใช้ภาษาอื่น

    ผลก็คือ ผู้ใช้ feisty ภาษาไทย ควรติดตั้งแพกเกจ firefox-libthai เพิ่ม

  • ttf-thai-tlwg (source: thaifonts-scalable) ที่ปรับปรุงใหม่ ได้เพิ่มข้อมูลสำหรับการเลือกฟอนต์ไทยอัตโนมัติ ทำให้ปัญหาการแสดงภาษาไทยด้วยฟอนต์ monospace แล้วทำให้สระกระโดดหมดไป โดยหากไม่กำหนดอะไร จะได้ฟอนต์ Loma เป็นฟอนต์ปกติแทน

    ความจริง ปัญหาเรื่องฟอนต์กระโดดนี้ เคยแก้ไปแล้วใน dapper ในแพกเกจชื่อ fontconfig-voodoo ซึ่ง ubuntu developer ช่วยกัน hack ขึ้นมา เราก็แทรกข้อมูล fontconfig สำหรับภาษาไทยไปเสีย แต่ไม่ทราบว่าแพกเกจนี้มันเป็นไสยศาสตร์เกินไปหรืออย่างไร เลยถูก drop ไป ไอ้ผมก็นอนใจว่าปัญหาแก้ไปแล้ว อีกทั้งปัญหาในเครื่องตัวเอง (debian) ก็แก้ไปแล้ว เลยลืมเรื่องนี้ไป จนมาได้ยินเสียงบ่นจากผู้ใช้ว่ามันยังอยู่ ที่สำคัญคือโดนกระทุ้งโดยกระทู้ของคุณ wd ที่ debianclub เลยจัดการแก้และ upload เข้า debian เสีย คราวนี้ก็เคลื่อนมาถึง ubuntu ให้ใช้ใน feisty แล้วละ

  • libthai และ libdatrie ที่ปรับปรุงใหม่ แก้ปัญหาการตัดคำที่ทำให้มีตัวขยะพวกลูกศร, NL และปัญหาหน้าต่างกว้างใน firefox แล้ว โดยความช่วยเหลือของ MrChoke (ดู blog เก่า)

ใครลง feisty beta ไว้ สามารถ update เพื่อใช้ feature เหล่านี้ได้แล้ว ใครยังไม่ลง จะรอ feisty ตัวจริงก็ไม่ผิดกติกา

สำหรับ debian user, feature ต่าง ๆ เหล่านี้มีให้ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว จากแหล่งต่าง ๆ คือ:

  • ttf-thai-tlwg ที่แก้ฟอนต์กระโดดใน iceweasel/xulrunner จาก sid และ etch
  • libthai ตัวล่าสุดจาก experimental (พร้อม libdatrie จาก sid) หรือจะลงตัวที่เก่ากว่านั้นเล็กน้อย แต่แก้ bug ชุดเดียวกันแล้ว จาก LTN apt ก็ได้
  • mozlibthai component สำหรับตัดคำไทยใน iceweasel/xulrunner ติดตั้งได้จาก LTN apt โดยดึงแพกเกจชื่อ iceweasel-libthai และ xulrunner-libthai ตามลำดับ

สำหรับรายการ libthai/libdatrie ใน debian นั้น ตัวใหม่คงไม่อยู่ใน etch เพราะติดช่วง freeze อยู่ แต่หลังจาก etch ออกแล้ว ทุกอย่างคงขยับต่อได้ใน lenny

ส่วน firefox patch นั้น.. คงต้องไปมุ่งทำงานที่ต้นน้ำเท่านั้น (ตาม blog เก่า) จึงจะเป็นทางแก้ที่ถาวร ระหว่างนี้ก็ใช้วิธีข้างต้นนี้ก่อน

ป้ายกำกับ: , , ,

25 มีนาคม 2550

National Religion

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถกกันหลายประเด็นเหมือนกัน ทั้งเรื่องใหญ่ ๆ อย่างที่มานายกฯ และการมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ กับเรื่องที่ได้ยินแล้วงง คือการกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

งงเพราะยังไม่แน่ใจ ว่ากำหนดแล้วจะมีผลต่อกฎหมายต่าง ๆ ยังไง และจะมีผลต่อศาสนิกของศาสนาอื่นยังไง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไฟใต้กำลังลุกโชนอย่างนี้

เรื่องนี้ท่าทางท่านจะ จริงจัง กันมากเสียด้วย

อาจจะเห็นว่าศาสนาอื่นกำลังรุกล้ำเข้ามาในประเทศทุกทิศทาง? หรืออาจจะต้องการให้ประเทศไทยซึ่งชาวโลกยกให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ได้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น?

แต่ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง กลับเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น หรือถ้าจะกำหนดจริง ก็ควรมีความชัดเจนต่อศาสนิกศาสนาอื่นมากกว่านี้

บังเอิญไปเห็นกระทู้ ย้อนรอยความเห็น "คึกฤทธิ์ ปราโมช" กรณี"พุทธ"เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเสนอทัศนะที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เคยกล่าวไว้

"ผู้ที่ท่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ท่านรู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ริษยาลัทธิ"

โดยท่านแสดงความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ไม่ได้กำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่มีมาตรา 7 ระบุไว้ว่า

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

ซึ่งเป็นวิธีการที่นุ่มนวลที่สุด ในการรักษาน้ำใจของคนไทยทั้งชาติ ชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ ก็อุ่นใจได้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนา และศาสนิกศาสนาอื่นก็จะอุ่นใจได้เช่นกัน ว่าจะไม่มีการกีดกันเสรีภาพในการนับถือศาสนาและประกอบศาสนกิจ เพราะพุทธศาสนาไม่มีบัญญัติที่กีดกันศาสนาอื่น (หม่อมฯ ท่านใช้คำว่า "ไม่ริษยาลัทธิ") หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงนับถือศาสนาที่กีดกันศาสนาอื่นแล้ว อาจกระเทือนต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนได้

ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น ชาวคริสต์หรืออิสลามเขาไม่สามารถเข้าร่วมพิธีของศาสนาอื่นได้ เพราะผิดบัญญัติศาสนา หากในหลวงทรงนับถือศาสนาเหล่านั้นแล้ว คงไม่สามารถเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาได้ดังที่เป็นอยู่

ผมเห็นด้วยกับความเห็นนี้นะ เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องถึงกับบัญญัติศาสนาประจำชาติหรอก

หรือยังมีเหตุผลอื่นที่ผมยังไม่รู้?

20 มีนาคม 2550

Debian News

วันนี้มีข่าว debian ให้เขียนถึงเยอะจัง ว่ากันทีละเรื่องละกัน

  • Debian Installer etch RC2 ออกแล้ว (ประกาศใน mailing list) นับว่าเข้าใกล้ความจริงไปอีกนิดกับ etch release ดูจำนวน Release Critical Bug รึ ก็ลดลงอย่างช้า ๆ (มีบั๊กถูกปิดขณะที่มีบั๊กพบใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด) ตอนที่เขียนอยู่นี้ เหลือ 66 รายการที่เกี่ยวข้องกับ etch release
  • Ian Murdock ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับ debian ว่ากำลังสูญเสียโอกาสสำคัญ เนื่องจากการไม่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริงของผู้นำ ผิดกับ Ubuntu ที่ทุกคนเชื่อในการตัดสินใจของผู้นำ ทั้งนี้ Ian เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยของ Debian เป็นผลเสียที่ทำให้ etch ออกล่าช้าในครั้งนี้ และว่าโครงการโอเพนซอร์สต้องมีความเป็นเผด็จการบ้าง งานถึงจะคืบหน้า ปิดท้ายด้วยการย้ำว่า การที่เขาบอกว่า Ubuntu ทำถูก ไม่ได้หมายความว่า Debian ทำผิด อย่างน้อย สิ่งที่ Debian ทำ ก็ได้บุกเบิกแนวทางการพัฒนา distro แบบเปิดจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นแบบอย่างให้ distro อื่นทำตามมาแล้ว เพียงแต่ว่า Debian อาจต้องปรับกระบวนการเพื่อจัดการกับขนาดชุมชนที่เติบโตมากมายขนาดนี้
  • อีกข่าวหนึ่ง ยังคงเป็น Ian Murdock ที่ได้เขียนใน blog ว่า ได้ย้ายไปทำงานกับ Sun แล้ว โดยต้องลาออกจาก Linux Foundation ด้วย โดย Ian บอกว่า Sun คือความประทับใจของเขาในช่วงแรกของการเรียนคอมพิวเตอร์ ก่อนจะมาทำงานกับลินุกซ์ และหลังจากที่ Sun เกิดภาพขององค์กร "ปิด" จนกลับมา "เปิด" ใหม่อีกครั้ง จึงเป็นโอกาสที่เขาจะเข้าไปร่วมปรับปรุง Solaris

คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลับมาคิดถึงความล่าช้าของ etch อีกครั้ง ครั้งนี้เกิดจากเหตุผลที่ต่างจาก sarge คือไม่ใช่เรื่องของ debian-installer ที่มีการรื้อเขียนใหม่ แต่เป็นเรื่องการเมือง เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ Anthony Town ซึ่งเป็น Debian Project Leader (DPL) คนปัจจุบัน ที่ตั้งโครงการ Dunc-Tank ที่สนับสนุนโดย Dunc-Bank เพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปเร่งกระบวนการ release etch ให้ทันตามกำหนด โดยให้คนมาช่วยกันทดสอบ Debian แบบโหด ๆ แล้วกระหน่ำ file RC bug แบบไม่ยั้ง แล้วก็จ่ายค่าจ้าง release manager สองคนให้ทำงานเต็มเวลาในการประสานงานแก้ RC bug ทั้งหลาย ทั้งจาก maintainer และ contributor ตามปกติ และจาก Bug Squad Party (thailatex ของเราก็เคยโดน RC bug จากกระบวนการ Dunc-Tank นี้ และก็ได้ release manager มือเซียนมาช่วยชี้ทางสว่างให้)

ฟังดูก็ไม่น่าจะมีอะไร และ DD (Debian Developer) หลายคนก็เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็มี DD กลุ่มใหญ่ที่ขาดแรงจูงใจในการทำงานลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง (เรื่องนี้กลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินในโครงการโอเพนซอร์ส เคยมี บทความที่ linux.com วิเคราะห์โมเดลของโครงการต่าง ๆ รวมถึง Dunc-Tank นี้ด้วย) แล้วก็เลยประท้วงและอภิปรายถอดถอน DPL ซึ่งแม้จะถอดถอนไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ประกาศประท้วงด้วยการหยุดทำงาน บางคนประกาศวางมือจาก Debian แล้วไปร่วมกับ Ubuntu แทน

เรื่องนี้คงเป็นปัญหาปกติสำหรับสังคมประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นของตน โดยเฉพาะใน Debian ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยเป็นหลักในการทำงาน แต่พอเกิดปัญหาการเมืองขึ้น ก็ทำให้งานต้องชะงักงัน ก็เป็นที่มาของปัญหาผู้นำขาดอำนาจที่ Ian พูดถึงนั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก คือการ release ตามกำหนด feature (ไม่ใช่ตามกำหนดเวลา) ของ Debian นั้น เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการ release ตามกำหนดเวลาของโครงการอื่นอย่าง GNOME และ Ubuntu

ผมเคย พูด หลายทีแล้ว ว่าอยากให้ Debian ไม่มีการ release เลยด้วยซ้ำ แต่หากคำนึงถึงผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่ต้องการ stable release ก็คงต้อง release ต่อไป แต่ถ้าสังเกตแนวโน้มของ Debian ที่เริ่มสนับสนุน testing ให้ใช้งานได้เสมือน stable หรือทำ stable ให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังที่ Joey Hess สรุปไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง security update ใน testing หรือการเกิด backports และ volatile สำหรับ stable ก็ดูจะเป็นแนวทางที่จะสร้าง debian ที่สดใหม่อยู่ตลอด จนน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่จะลบสถานะ released/unreleased แบบ boolean ออกเสีย แล้วสร้าง debian testing ที่ใช้งานภาคสนามได้ตลอดเวลา ผมชอบแนวคิดนี้นะ

อีกทางหนึ่ง คือเปลี่ยนนโยบายการ release มา release ตามกำหนดเวลา วันนี้ไปเห็น blog ของ Murray Cumming จาก Planet GNOME เขียนถึงวิทยานิพนธ์ของ Martin Michlmayr อดีต DPL เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์แวร์เสรีในแง่การจัดการ release ซึ่งผมยังไม่ได้อ่านละเอียด แต่ตามที่ Murray สรุปให้ฟัง ดูจะชี้ให้เห็นข้อดีของการ release ตามกำหนดเวลา ซึ่งต้องติดตาม blog ของ Martin ต่อไป ว่าจะสรุปออกมาแนวไหน และจะมีการเสนอใน Debian หรือไม่

โดยส่วนตัว คิดว่าถ้าจะให้ Debian ออกตามกำหนดเวลา ก็คงไม่ใช่ทุก 6 เดือนแน่ ๆ จากปริมาณงานที่มากมายมหาศาลขนาดนั้น แต่ละ release คงทำอะไรได้ไม่เท่าไร และการ release ตามกำหนด ถึงจะมีการตัด feature ที่ไม่พร้อมเพื่อไม่ให้คนอื่นต้องหยุดรอ แต่จำนวนแพกเกจและ architecture ที่มากมาย ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กินเวลา freeze นาน คิดว่าการยืดระยะเวลา release ออกไป แล้วทำ testing ให้ใช้งานภาคสนามได้ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า ในแง่ความต่อเนื่องของ pipeline ของงานต่าง ๆ ที่ไม่ต้องสะดุดกึกทุกครั้งที่ release และผู้ใช้ก็ได้ใช้ซอฟต์แวร์สดใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย

ป้ายกำกับ:

19 มีนาคม 2550

Partial Solar Eclipse

สังเกต สุริยุปราคาบางส่วน อย่างง่าย ทำกล้องรูเข็มอย่างเร็วด้วยม้วนกระดาษกับกระดาษเจาะรู แต่ถ่ายภาพลำบาก เหลือบไปที่ผนังบ้าน ที่แดดส่องลอดรูเข้ามา เลยถ่ายซะ ง่ายกว่ากันเยอะ

Partial Solar Eclipse

เวลา: 19 มีนาคม 2550 08:28 น.
สถานที่: ขอนแก่น (16.5 N 102.8 E)

ป้ายกำกับ:

18 มีนาคม 2550

mirror แห่งชาติ (ปางก่อน)

รอคอยเธอมาแสนนาน ทรมานวิญญาณหนักหนา
apt เธอเท่าไรไม่มา แก้วกานดาไม่มาเลยแพกเกจเดียว

เธอเอย mirror rsync แสนไฟล์ ตายไปยังไงฉันไม่แลเหลียว
มิเคยอ่านเมลเลยเชียว ร้องเรียนนิดเดียวมิฟัง

เพลงรอคงน้อยไป กับ มิเรอร์แห่งชาติปางก่อน ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ใน debian mirror มากว่าสองเดือน หลังจากเคยตายแล้วฟื้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ ยังไม่เห็นวี่แวว จะ ร้องเรียนอีกทาง รึก็ไม่กล้า เดี๋ยวจะกลายเป็นโฆษณาขายของ T_T

หยอก admin เล่น อย่าโกรธกันนะ ผมเข้าใจนะ ว่าการดูแล debian mirror ให้อัปเดตอยู่เสมอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ rsync script ชอบตายบ่อย ๆ หรือบางที แหล่งต้นฉบับก็อาจมีปัญหาเป็นครั้งคราว การต้องไปแก้ปัญหาอยู่เนือง ๆ อาจเป็นเรื่องจุกจิกน่ารำคาญ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นว่า admin เป็น debian user ต้องใช้ mirror อย่างสม่ำเสมอล่ะก็ การแก้ปัญหาจะกลายเป็นการแก้ปัญหาให้ตัวเองด้วย ก็คงกลายเป็นความจำเป็นไปในตัวมัง?

17 มีนาคม 2550

command-not-found

ตาม ubuntu feisty เล่น ๆ มาพักนึงละ ส่วนหนึ่งก็ตรวจสอบแพกเกจภาษาไทยที่ยังไม่ sync กับ debian ไปด้วย ปรากฏว่ารายการที่ขอ sync ไปยังไม่มา.. แต่รอหน่อยน่ะ บางอย่างก็ต้องรอผ่านกระบวนการก่อน โดยเฉพาะช่วง freeze อย่างนี้

แต่วันนี้ ระหว่าง upgrade เจอแพกเกจใหม่ถูกดึงเข้ามาโดย ubuntu-standard โดย recommends แพกเกจชื่อ "command-not-found" ด้วยความสงสัยก็ลอง show ดู (prompt เป็น prompt ของ root ไม่ใช่ผ่าน sudo เพราะเรียกผ่าน ubuntu chroot ใน debian):

# aptitude show command-not-found
Package: command-not-found
New: yes
State: installed
Automatically installed: yes
Version: 0.2.2
Priority: optional
Section: admin
Maintainer: Michael Vogt <michael.vogt@ubuntu.com>
Uncompressed Size: 102k
Depends: python, python-central (>= 0.5.8), command-not-found-data
Description: Suggest installation of packages in interactive bash sessions
 This package will install handler for command_not_found that lookups programs
  not currently installed but available from the repositiories.

โว้ว.. มาแล้วรึ feature แบบนี้ ลองสั่งดูซิ โดยเรียก vlc ที่ยังไม่ได้ install:

ก่อน:

# vlc
bash: vlc: command not found

หลัง:

# vlc
The program 'vlc' is currently not installed.  You can install it by typing:
apt-get install vlc-nox
Make sure you have the 'universe' component enabled
bash: vlc: command not found

อืม แนะนำให้แบบนี้ก็ดีแฮะ เดิมเคยคิดไว้ตั้งแต่สมัยเคอร์เนล 2.4 ประมาณว่า ให้มีตัว detect hardware แล้ว apt-get driver module ให้เลย แต่ตอนนี้คงไม่ต้องแล้ว เพราะเคอร์เนล 2.6 มันรวมไดรเวอร์มาเกือบครบหมดแล้ว

เท่าที่อัปเดต ubuntu ผ่าน chroot ก็รู้สึกว่า ubuntu เขาคิดอะไรเพิ่มเยอะดี แต่ดูเหมือนจะขาดเรื่องการรองรับการอัปเดตผ่าน chroot ไปนะ บางแพกเกจที่ต้อง restart system service จะอัปเกรดใน chroot ไม่ผ่านเลย ต้องบูตเข้าไปซ่อม จริง ๆ mount proc มันก็อาจจะผ่าน แต่คงไปตีกับ system service ของ host OS อยู่ดี ในขณะที่ debian สนับสนุนเรื่องนี้ค่อนข้างแนบเนียน โดยจะ detect ก่อน ว่าถ้าอยู่ใน chroot environment ก็จะไม่พยายามทำอะไรกับ system service ทำให้ maintain project ย่อย ๆ ใน chroot ได้สบายกว่ามาก

ป้ายกำกับ:

15 มีนาคม 2550

Fun

วันสองวันมานี้ สนุกดีแฮะ ได้ตัดเรื่องอื่น ๆ ออกไปแล้วติดต่อ upstream ลูกเดียว ก็ไม่เชิง upstream จริง ๆ ทั้งหมดหรอก แต่เป็น debian และ ubuntu น่ะ

สรุปความคืบหน้า

  • Alexander Sack ซึ่งเป็น firefox maintainer ของ ubuntu ได้ช่วยประสานงานต่าง ๆ ให้ จนได้รับอนุญาตให้ sync แพกเกจไทยต่าง ๆ จาก debian แม้จะอยู่ในช่วง feisty freeze ได้แก่ thaifonts-scalable และ libdatrie จาก sid, libthai จาก experimental นอกจากนั้น ก็ได้อัปเดตแพตช์ใน firefox จากแพตช์รุ่นลายครามตั้งแต่ครั้ง Localisation Sprint มาเป็นรุ่นล่าสุด

    ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย น่าจะคาดหวังได้ว่า firefox ใน feisty จะได้ใช้ libthai ตัวใหม่ ซึ่งจะมีปัญหาน้อยลง (แปลว่ายังไงก็คงจะยังมีปัญหาอยู่) กับเว็บภาษาไทยที่มีย่อหน้ายาว ๆ รวมทั้งใช้ thaifonts-scalable ตัวใหม่ ที่แก้ปัญหาฟอนต์กระโดดแล้ว

  • สืบเนื่องจากแผนการ build pango ตัวใหม่โดยลิงก์กับ libthai ใน debian ของ Loic Minier ทำให้ผมตัดสินใจติดตั้งแพกเกจ GNOME ต่าง ๆ จาก experimental เพื่อติดตามงาน จากเดิมที่คิดว่าจะลงแค่ toolkit อย่าง GTK+ แต่สุดท้ายก็ลามไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็เป็น GNOME ทั้งตัว ก็ได้ GNOME 2.16.3 ซึ่งเป็น stable release ล่าสุด พร้อม xorg 7.2 อีกต่างหาก โอ้.. ฉันทำอะไรลงไปนี่ ^_^'

    ปัญหาแรกที่เจอ คือ Debian Bug #414698 คือ immodule ไทย-ลาว ตัวใหม่ใน upstream GTK+ ไม่ทำงาน debug ไปมา พบว่าเป็นเพราะแพตช์หนึ่งที่ดึงมาจาก trunk ทำให้มีการส่งพารามิเตอร์เพี้ยนมายัง IM แต่พอจะ debug หาสาเหตุที่เพี้ยน bug กลับหายไปซะงั้น เบื่อ heinsenbug จริง ๆ เล้ย

    แต่ก็ทำให้ Debian maintainer แก้ปัญหานี้ด้วยการ drop patch นั้นไปซะ

  • เตรียม บันทึกออกรุ่น GNOME 2.18 โดยได้เพื่อน ๆ ในทีมแปลช่วยวิจารณ์ขัดเกลา แล้วก็มาจับ screenshot ตามทีหลัง

    ออกแล้วนะครับ GNOME 2.18 เตรียมพบได้ที่ distro ใกล้บ้าน :-)

ยังมีเรื่องต้องทำต่ออีก ไว้ค่อย blog ทีหลัง

ป้ายกำกับ: , ,

13 มีนาคม 2550

On Mozilla Stuffs

มัวแต่ไล่แพตช์ iceweasel/xulrunner deb เสียนาน โดยไม่ได้ปรับแพตช์อะไรมากมายเลย ทั้งไม่ได้ไปตามดูซอร์สที่ mozilla trunk เลยด้วย ส่งงานชิ้นหนึ่งไปแล้ว เลยถือโอกาสกลับมาดูเสียหน่อย

อย่างที่เกิดกับผมหลายเรื่อง เรื่อง mozilla นี่ พอนานเข้า เรื่องที่ไม่เคยคิดว่าต้องทำก็ชักกลายเป็นเรื่องถาวร ต้องเตือนตัวเองเสียบ้าง ว่าเดิมผมไม่เคยคิดจะเข้ามาดู mozilla เลย เพราะเห็นว่ามีหลายคนทำอยู่แล้ว ทั้งพี่สัมพันธ์ พี่ฮุ้ย อ๊อท ก็ปล่อยให้เขาทำไป แต่ที่ต้องมาจับนี่ก็เพราะ Ubuntu Localisation Sprint ตั้งแต่รุ่น dapper นู่น บังเอิญผมเอาแพตช์ของอ๊อทไปใส่ โดยที่ต้องปรับแก้เพิ่มเติมด้วย

จาก Ubuntu ก็มาที่ upstream โดยตาม update patch ของอ๊อทที่มีการปรับขณะทำ sprint และหลังจากนั้นซึ่งผมปรับเองด้วย (ถ้าจะพูดให้ถูก ความจริงคือการรื้อเขียนใหม่) ขณะเดียวกัน ก็ติดต่อ Debian ไปด้วย แล้วก็ได้คอมเมนต์จาก Debian เพิ่มเติมอีก จนปรับแพตช์มาได้ระดับหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่ได้เข้าที่ upstream และ Debian ส่วนที่ Ubuntu ก็ไม่มีการปรับแพตช์เลย จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงได้มีการติดต่อกันอีก

ก็เลยพัวพันกับเขาไป ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำในตอนแรก แต่ไหน ๆ ก็ได้เริ่มแล้ว ก็ควรทำให้เสร็จสิ้น ขณะเดียวกัน งานอื่นก็มาดึงเวลาไป ทำให้ไม่ได้ติดตามความคืบหน้า มารู้ตัวอีกที ก็ชักจะกลายเป็นงานประจำไปเสียแล้ว กับการ patch และ build deb

น่าจะถึงจุดที่ต้องหยุดทบทวนบ้างล่ะ ว่าจะทำยังไงต่อไปกับเรื่องนี้ การไล่ patch และ build ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาแน่ ๆ

mozilla ใน trunk ซึ่งจะออกเป็น firefox 3 นั้น มีการปรับ API และโครงสร้างของตัวตัดคำพอสมควร ดูท่าจะทำงานได้เร็วขึ้น ไม่มีการเรียกรูทีนตัดคำแบบซ้ำซาก แต่ก็ยังไม่มีโครงสร้างสำหรับการต่อเติม engine ในแบบที่ pango ทำเลย จึงดูเหมือนยังไม่มีช่องทางให้เสียบเพิ่ม engine ภาษาไทยเข้าไปได้ง่าย ๆ

เท้าความถึงลักษณะปัญหาและ solution ต่าง ๆ เสียก่อน..

ใน mozilla นั้น มี interface สำหรับตัดบรรทัดคือ ILineBreaker ซึ่งขณะนี้ มี engine เดียวที่ implement interface นี้ คือ nsJISx4051LineBreaker ซึ่ง implement ตาม spec ตัวตัดคำของญี่ปุ่น โดยมีการวิเคราะห์พวกเครื่องหมายวรรคตอนพอประมาณ

พี่สัมพันธ์ เคยทำงานกับ mozilla เมื่อนานมาแล้ว โดยเพิ่มกรณีของภาษาไทยใน nsJISx4051LineBreaker แล้วเรียกตัวตัดคำที่ใช้ rule base ที่พี่เขาเขียน แต่ปรากฏว่า ต่อมาโค้ดนี้ก็ไม่ถูกเรียกอีก ทำให้การตัดคำไทยใน mozilla หายไป

ต่อมา หลังจากพี่สัมพันธ์ check-in โค้ดตัดคำด้วยพจนานุกรมเข้า ICU ได้แล้ว ก็ได้ทำ patch ต่อเติม nsJISx4051LineBreaker อีกครั้ง โดยมาเรียก ICU แทน แต่ปรากฏว่าเขาไม่รับ patch อาจจะด้วยเหตุผลเรื่อง license และขนาดของ ICU ที่ใหญ่มหึมาเกินไป

นั่นทำให้เกิดช่วงสุญญากาศ แล้วก็เกิด solution ต่าง ๆ เป็นดอกเห็ด แต่แพตช์ตัดคำทั้งหลาย ต่างก็อาศัยแพตช์ของพี่สัมพันธ์เป็นฐานทั้งนั้น อาจจะต่างกันที่ engine เช่น ของพี่ฮุ้ยใช้ cttex, ของอ๊อทและของผมใช้ libthai

ล่าสุด พี่สัมพันธ์ได้เสนอว่าจะทำเป็น extension แทน โดยสร้าง component ที่ register service ด้วย contract ID ของ ILineBreaker ซึ่งความหมายก็คือ จะเอาตัวตัดคำไปแทนที่ nsJISx4051LineBreaker นั่นเอง ไม่ใช่การต่อเติมอย่างเดิมอีกต่อไป

วิธีการนี้อาจจะเหมาะสำหรับไลบรารีใหญ่ ๆ อย่าง ICU เพราะถ้าจะให้ mozilla link ตรง ๆ เพียงเพื่อใช้ความสามารถเรื่องการตัดคำภาษาไทย คงสิ้นเปลืองเกินไป แต่ถ้ายอมให้เปลืองเฉพาะสำหรับคนที่อ่านภาษาไทย ก็คงยอมรับได้ อีกทั้ง ICU น่าจะมีความสามารถที่เป็น superset ของ nsJISx4051LineBreaker อยู่แล้ว จึงแทนที่ได้สบายมาก

อีกทางเลือกหนึ่ง คือการพยายามดัน libthai patch ให้เข้าที่ upstream ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องตาม patch ตาม build กันต่อไป ซึ่งวิธีนี้น่าจะเหมาะสำหรับไลบรารีเล็ก ๆ อย่าง libthai เพราะไม่ได้เพิ่มภาระให้กับโปรแกรมมากนัก อาจ check-in ง่ายกว่า แต่ปัญหาของ libthai คือ ยังไม่มีใช้ใน Windows จึงต้องการคน build installer ให้ด้วย ส่วนในลินุกซ์นั้น หลังจากที่ pango 1.16 ลิงก์กับ libthai ก็น่าจะทำให้ libthai เริ่มมีความสำคัญขึ้นบ้างใน distro ต่าง ๆ อย่างน้อยตอนนี้ก็มีใน Debian และ Ubuntu ละ ส่วน Fedora ก็เข้าใจว่าน่าจะมี

และทางเลือกที่สาม ที่ยังวนเวียนในความคิดนักพัฒนาอยู่เสมอ คือการใช้ API ตัดคำของ platform เช่น ใช้ pango บนลินุกซ์, ใช้ Uniscribe บนวินโดวส์, ใช้ ATSUI บน Mac ซึ่งก็ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แม้จะประสิทธิภาพต่ำกว่าเพราะต้องเรียกใช้หลายทอด แต่การปรับปรุงโครงสร้างโค้ดใน mozilla เร็ว ๆ นี้ น่าจะช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่เขาจะเลือกใช้หรือเปล่าก็ต้องขึ้นอยู่กับ architect ของ mozilla แล้วละ

สำหรับทางเลือก libthai patch นั้น ดูเหมือนขั้นตอนสำคัญที่ขาดอยู่ ก็คือ installer สำหรับ libthai บน Windows ซึ่งถ้ามีแล้ว คงทำให้ผลักดันอะไร ๆ ได้ง่ายเข้า

ป้ายกำกับ: , , ,

10 มีนาคม 2550

Still xulrunner, iceweasel -_-'

ขยันอัปเดตกันจริงๆ กับ firefox®, iceweasel, xulrunner.. แต่ก็เป็นโอกาสให้ได้ปรับแพตช์ใหม่กับซอร์สทั้งหลายด้วย

เริ่มจากส่งแพตช์ใหม่ให้กับ firefox maintainer ของ ubuntu แล้วก็ build xulrunner-libthai 1.8.0.10-2thai1 ตามด้วย iceweasel-libthai 2.0.0.2+dfsg-3thai1 สำหรับ amd64

หลังจากที่โพสต์ ไหว้วานขอผู้ช่วย build i386 deb ก็ปรากฏว่า นอกจากจะมีผู้ช่วย build ให้ คือ Neutron และคุณ widhaya แล้ว ยังมีผู้แนะนำ solution ต่างๆ ให้ผมสามารถ build เองได้ แต่ขอพูดเลยละกัน ว่าหลังจากที่ Prach และ Neutron ได้อาสาช่วย build แพกเกจให้ (โดย Prach นั้น ถึงกับสร้าง deb rules ให้ด้วย) แล้ว ก็เห็นว่าเป็นช่องทางที่จะให้คนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วม เพราะผมเองนอกจากจะอัปโหลดลำบากแล้ว การมาตาม build แพกเกจเหล่านี้ก็เจียดเวลาว่าง, CPU และ bandwidth จากงานอื่นมาทำ บางทีเวลางานเร่งๆ ก็อาจจะ build amd64 ให้ตัวเองใช้ก็พอ แล้ว arch อื่นค่อยว่าทีหลัง

ก็ไม่แน่ ว่าถ้า arch อื่น active กันมากพอ ผมก็อาจจะค่อยๆ แบ่งงานให้ดูมากขึ้น เช่น อาจจะให้แพตช์กันเองเลยก็ได้ แล้วผมจะได้ไปไล่ตาม upstream อย่างเดียว :-)

อย่างไรก็ตาม สำหรับอัปเดตล่าสุดนี้ ยังไม่ได้ build i386 deb นะครับ ยังคงขออาสาสมัครช่วย build ให้ด้วยเช่นเดิมครับ

หมายเหตุ: นั่งเขียน blog อยู่ เหลือบไปดูหน้าต่าง aptitude เห็น xulrunner ตัวใหม่มาอีกเมื่อเช้า -_-! จะมีมาอีกมั้ยนี่.. แต่ยังไงก็ดูดมาแพตช์และ build ใหม่ละ เป็น xulrunner-libthai 1.8.0.10-3thai1

05 มีนาคม 2550

iceweasel-libthai, xulrunner-libthai updates

หลังจาก iceweasel มีรุ่นใหม่ออกมาแล้ว ก็มี debian bug fix ตามมาอีกหนึ่ง release แล้วก็ตามด้วย xulrunner 1.8.0.10 -_-!

เมื่อวานเลยไม่เป็นอันทำอะไร นั่ง build iceweasel-libthai ตัวใหม่และ upload ขึ้น LTN apt ทั้ง amd64 และ i386 deb แล้วก็ตามด้วย xulrunner-libthai แต่ในระหว่างที่พยายามทำให้ xulrunner-libthai build ผ่านใน i386 chroot ก็ทำให้เจอข้อผิดพลาดใน mozlibthai patch

กล่าวคือ patch เดิมนั้น ผมไปเพิ่ม mozlibthai component ใน Makefile ของ subdir ของโค้ดส่วนตัดคำ ทำให้กระบวนการ build mozlibthai เกิดขึ้นใน tier 9 ซึ่งยังไม่มีโครงสร้าง xpcom เกิดขึ้น การที่มันเคย build ผ่านในครั้งก่อนๆ ก็อาจเป็นความบังเอิญที่มี libxul ติดตั้งอยู่แล้วในระบบ ทำให้มันไปลิงก์เจอ แต่ถ้า build ในระบบที่สะอาดจริงๆ จะไม่ผ่าน

ทางแก้คือตัด make rule ออกจาก tier 9 แล้วไปเพิ่ม mozlibthai ใน tier 50 ซึ่งมี xpcom เรียบร้อยแล้ว ก็ปรากฏว่า build ผ่านใน amd64 อยู่ แต่ใน i386 chroot ยังติดปัญหาเยอะแยะ โดยเฉพาะในโค้ดส่วน java มันไปใช้ service ของระบบ ดูจะมีปัญหากับการ build ใน chroot environment อยู่ คงต้องไหว้วานให้ใครที่มี debian i386 ช่วย build ให้แล้วแหละครับ โดยกำหนด /etc/apt/sources.list ดังนี้:

deb-src http://linux.thai.net/apt ./

แล้วสั่ง:

$ sudo apt-get update
$ sudo apt-get build-dep xulrunner
$ apt-get source xulrunner
$ cd xulrunner-1.8.0.10
$ debuild

ถ้าทุกอย่าง build ผ่าน ก็จะขอ i386 deb มาไว้ที่ LTN apt ให้ทุกคนได้ใช้ และจะได้ update patch กับ debian, ubuntu และ mozilla ต่อไปครับผม

ปล. ย้ำว่า debian นะครับ ไม่ใช่ ubuntu กันการเข้าใจผิด ^_^'

ป้ายกำกับ: ,

04 มีนาคม 2550

Mantra

เมื่อคืนไปเวียนเทียนมาฆบูชากับแม่ เมื่อตอนเป็นเด็กนั้น นานๆ จะได้ไปเวียนเทียนสักครั้ง เพราะที่บ้านค่อนข้างเป็นคนไกลวัด แม้ตามทะเบียนบ้านจะนับถือพุทธ แต่ดูเหมือนในทางปฏิบัติจะเป็นลัทธิขงจื๊อตามแบบคนจีนโพ้นทะเลมากกว่า คือเน้นการเคารพบูชาบรรพบุรุษ นิยมยกย่องการศึกษา ส่วนที่โรงเรียน ก็เป็นโรงเรียนคริสต์ ไม่เคยพาสวดมนต์ไหว้พระ จะมีก็แต่การสรรเสริญพระเจ้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน

ก็เลยเป็นคนสวดมนต์ไม่ค่อยเป็น ตอนย้ายเข้าเรียนโรงเรียนมัธยม การปรับตัวให้เข้ากับธรรมเนียมพุทธ เช่น การสวดมนต์หน้าเสาธง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเริ่มฝึกหัดใหม่ จากนั้น ก็ได้เรียนวิชาพุทธศาสนาตามหลักสูตร แต่ก็เหมือนเรียนตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้รู้สึกสนใจเป็นพิเศษเหมือนวิชาอื่นบางวิชาที่ดู "cool" กว่า

แต่เมื่อเติบโตขึ้น ผ่านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิต จนได้มาสัมผัสพุทธศาสนาจริงๆ จังๆ จึงได้เกิดมุมมองที่ต่างไปจากตอนเป็นเด็ก รู้สึกประทับใจในแนวคิดแบบพุทธที่มีหลักการ เป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ ทั้งยังเปิดกว้าง ให้อิสระทางความคิดที่จะศึกษาและให้เหตุผลกับแนวทางของศาสนาอื่น

การตั้งคำถามต่อพิธีกรรมต่างๆ ของชาวพุทธเอง ก็เป็นแนวทางหนึ่งของการศึกษาพุทธธรรมด้วย ซึ่งการให้คำตอบต่อเรื่องต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นขาวกับดำ แต่ขอให้พิจารณาเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

หนึ่งในคำถามหลายๆ ข้อก็คือ การสวดมนต์และพิธีกรรมต่างๆ นั้น สำคัญแค่ไหน? งมงายหรือเปล่า?

ตามที่เคยอ่านประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ดูเหมือนการเน้นพิธีกรรมจะเกิดในยุคท้ายๆ และยังทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย แต่ก็ปรากฏว่า พุทธศาสนาที่ไปเผยแผ่ในที่อื่นๆ ก็ยังมีพุทธนิกายตันตรยานแบบนี้ปนไปอยู่ด้วย โดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น ที่ซึ่งมหายานเฟื่องฟู และพุทธศาสนาดูจะมีความหลากหลายของนิกายสูงมาก

พุทธที่เผยแผ่มายังดินแดนสุวรรณภูมินี้ เป็นนิกายเถรวาท ซึ่งยึดถือตามมติของพระเถระในการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน ที่จะรักษาพระวินัยทุกข้อที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งแม้จะฟังดูเคร่งครัด แต่ผลก็คือ เถรวาทกลายเป็นนิกายที่สามารถรักษาแนวคำสอนไว้ได้โดยไม่ผิดเพี้ยนจากกันมากอย่างที่เกิดกับมหายาน จนพระธรรมปิฎก (ป. ปยุตฺโต) เคยกล่าวไว้ว่า คำสอนของนิกายมหายานต่างๆ นั้น ขัดแย้งกันเองมากกว่าที่ขัดแย้งกับเถรวาทเสียอีก ลักษณะเช่นนี้เอง ที่ทำให้เถรวาทกลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับการศึกษาพุทธศาสนาของโลก

นั่นคือสิ่งที่เรามี แต่เราก็เอามาผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อภูติผีพื้นบ้าน จนออกจะกลายเป็นการสร้างนิกายตันตรยานขึ้นมาใหม่ โดยไปให้ความสำคัญกับพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์มากเกินไป

การสวดมนต์ภาษาบาลีนั้น ไม่ใช่ไม่มีข้อดี ความจริงแล้ว การสวดมนต์มีหน้าที่ของมันอยู่ เช่น:

  • เป็นวิธีหลักในการถ่ายทอดหลักธรรมในแบบมุขปาฐะมาตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรก ก่อนที่จะเริ่มมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในการสังคายนาครั้งที่ 3
  • เป็นวิธีหนึ่งในการอ่านคำสอนให้ถึงชาวบ้าน เพราะคงมีชาวบ้านน้อยคนที่จะได้อ่านพระไตรปิฎกจริงๆ
  • เป็นภาษาสากลของชาวพุทธทั่วโลก ถ้าใครได้ดูสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า คงจะได้ฟังเสียงสวดมนต์ของชาวพุทธที่อินเดีย เนปาล และศรีลังกา จะพบว่า ไม่ได้ต่างจากที่เราสวดกันอยู่เลย

นั่นคือหน้าที่ของพิธีกรรมการสวดมนต์ แต่หน้าที่ที่เหลือของผู้สวดมนต์ก็ยังมี คือต้องระลึกถึงความหมายของบทสวดตามไปด้วย จึงจะมีผลน้อมนำความคิดจิตใจให้เกิดความสงบ และมั่นคงในการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ บทสวดมนต์แปลจะช่วยได้มาก ขณะเวียนเทียนเมื่อคืนนี้ ผมนึกอยากให้พระสงฆ์นำสวดรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเป็นทำนองสรภัญญะ ต่อจากบทบาลีปกติด้วย เพื่อจะให้ชาวพุทธได้เข้าถึง และได้ประโยชน์จากพิธีกรรมมากยิ่งขึ้น ก่อนที่เราจะลืมนึกถึงความหมาย จนกลายเป็นพิธีกรรมงมงายในที่สุด

อาจจะมีคำถามอื่นๆ ที่สมควรขบคิดกันอีก เช่น เรากราบพระพุทธรูปที่เป็นอิฐปูนทองเหลืองเพื่ออะไร? การรดน้ำมนต์ทำเพื่ออะไร? คำถามเหล่านี้ ดูเผินๆ อาจเหมือนการท้าทายศาสนาด้วยความคิดวิทยาศาสตร์ "สมัยใหม่" แต่ทัศนคติใดๆ ที่จะปฏิเสธหรือยอมรับอย่างสิ้นเชิงแบบขาวกับดำ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือจะเป็นการเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่คิดอะไร ก็คงไม่ใช่การใช้เหตุผลแบบ "วิทยาศาสตร์" ที่แท้จริง

อย่างมงายในศาสนา อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ และอย่างมงายในคำพูดประโยคนี้ด้วย

03 มีนาคม 2550

libthai 0.1.8

ในที่สุดก็ได้เวลา upload libthai ใน official debian เพื่อใช้ build pango ตัวใหม่ใน experimental เมื่อวาน Loïc Minier ติดต่อมาว่าจะ sponsor libthai ตัวใหม่ให้ เลยรีบกุลีกุจอรับทันที หลังถูกเมินจากพี่เลี้ยง ubuntu มานาน จนต้องพักแผนไว้รอหลัง etch, feisty :P

เริ่มจากการ release upstream libthai 0.1.8 ก่อน แล้วจึง build deb สำหรับ debian experimental

เนื่องจากเว็บ LTN ยังปิดปรับปรุงอยู่ ไม่มีที่ให้ประกาศ ก็ขอประกาศใน blog นี่ไปก่อนละกัน

LibThai 0.1.8 Released

  • Improved handling of white spaces in word break routine, for better quality of line wrapping in Gecko libthai component.
  • More words in word break dictionary.
  • Excessive exported symbols are eliminated from library.

Download:

การเปลี่ยนแปลงโดยรวมนับจาก 0.1.7 ก็คือ การแก้บั๊กในตัวตัดคำเกี่ยวกับการจัดการ white space ซึ่งหลังจากแก้แล้ว ทำให้ Gecko libthai ตัดบรรทัดภาษาไทยสวยขึ้นเยอะ ตามที่ MrChoke ได้รายงานและช่วย debug ดังที่ เคย blog ไปแล้ว บวกกับคำแนะนำจาก Loïc Minier เกี่ยวกับ symbol ที่ export เกินมาใน library ซึ่งอาจก่อปัญหา symbol ซ้ำกับโค้ดอื่นที่มาลิงก์ด้วยโดยไม่จำเป็น ก็จัดการปรับปรุง link option ตามคำแนะนำด้วย

release เสร็จ ก็ build libthai 0.1.8-1 deb สำหรับ debian experimental กำลังอยู่ระหว่างรอ sponsor และ upload

ป้ายกำกับ: ,

01 มีนาคม 2550

The Best Way to Complain

Linus Torvalds เคยบ่นไว้นานมาแล้วว่า GNOME ห่วย ใช้ KDE ดีกว่า ซึ่งพอคนดังบ่นก็เป็นข่าว เกิดสงครามใหญ่โต จนเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องนี้ กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อมีคนท้าให้ Linus ไปบรรยายที่ GUADEC โดยแจงเป็นเรื่องๆ ไปเลย ว่ามีตรงไหนไม่ดีมั่ง จะได้ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งปรากฏว่า เขารับคำท้า ด้วยวิธีที่ต่างออกไป คือส่ง patch สำหรับ metacity มาแก้ และวันนี้ GNOME 2.18 Release Candidate (2.17.92) ก็ออกมาแล้ว พร้อม metacity ที่รวม patch ของ Linus!

นี่แหละ คือโลกของ FOSS.. ที่การบ่นทำได้มากกว่าแค่บ่น และวิธีที่ดีที่สุดในการบ่น ก็คือบ่นด้วย patch หรืออย่างน้อยๆ ก็ bug report คุณมีเสรีภาพที่จะทำกับซอฟต์แวร์ที่คุณใช้ได้มากกว่าแค่บ่นว่า "มันห่วย", "มันเจ๊ง", "มันไม่เวิร์ก" ฯลฯ และคุณไม่ต้องเป็นคนดังขนาด Linus ก็สามารถทำได้ ขอแค่รู้จักให้ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น

และวิธีที่ดีที่สุดที่จะบ่นว่า debian ออกช้า ก็คือการช่วยแก้ RC Bug โดยมุ่งไปที่การลดจำนวนบั๊กในบรรทัดนี้:

Number concerning the next release (excluding ignored and not-in-testing): 85

กำลังพยายามเจียดเวลาไปช่วยเขาอยู่เหมือนกัน แต่ช่วงนี้ นอกจากเคลียร์งานแล้ว ยังคงต้องเผื่อเวลาสำหรับการ release GNOME 2.18 ด้วย

ป้ายกำกับ: , ,

hacker emblem